เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 3 ส.ค. พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายเสกสม อัครพันธุ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท. พล.ต.ต.ไพโรจน์ สุขรวยธนโชติ พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ รอง ผบช.สอท. พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ รอง ผบช.สพฐ ปฏิบัติราชการ บช.สอท. พล.ต.ต.ณัฐกร ประภายนต์ ผบก.สอท.2 พ.ต.อ.สุวัฒชัย ศรีทองสุข ผกก.วิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ บก.สอท.2 ร่วมกันแถลงข่าวผลการปฏิบัติการพลิกถนนล่ารหัสโจรกรรม จับกุมผู้ต้องหา 2 ราย คือนายเสถียร เรืองสมุทร อายุ 38 ปี และนายศริสร สุทธิเจต อายุ 44 ปี พร้อมของกลางรถยนต์หรูหลายรายการ อาทิ อาวดี้ คิว 8, เมอร์เซเดส เบนซ์ G300, ออสติน มินิ แวน, ซากรถยนต์ บีเอ็มดับเบิลยู E3, BMW 3.0 CSL, เครื่องปั๊มเพลท, แผ่นเพลท และเล่มทะเบียนรถจำนวนมาก

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ทางกรมการขนส่งทางบก ได้ตรวจพบความผิดปกติในการเข้าใช้งานโปรแกรมปรับฐานข้อมูลของผู้ดูแลระบบงานด้านทะเบียนรถยนต์ จึงทำการตรวจสอบย้อนกลับไป ปรากฏว่า มีการลักลอบนำ username และ password ของเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกไปใช้ดำเนินการ แก้ไขปรับปรุงข้อมูลรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ในระบบงานตรวจสภาพรถ เช่น ยี่ห้อรถ หมายเลขตัวรถ เชื่อมโยงข้อมูลที่มีการปรับแก้แล้วมายังระบบงานทะเบียนรถยนต์ โดยมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลรวมจำนวนทั้งสิ้น 65 คัน จึงได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับทางศูนย์ปราบปรามการโจรกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่จะสั่งการให้ทาง บช.สอท. ดำเนินการตรวจสอบรวบรวมพยานหลักฐานออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องและทำการจับกุมผู้ต้องหา 2 ราย และเปิดปฏิบัติการตรวจค้น 35 จุด ยึดรถที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดจำนวน 65 คัน มูลค่า 77,350,000 บาท พร้อมทั้งออกหมายเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของรถที่ได้ครอบครองที่เกี่ยวข้องในคดีนี้

พ.ต.อ.สุวัฒชัย กล่าวว่า ขบวนการนี้มีการแบ่งงานกันทำ โดยขั้นตอนการดำเนินการของคนร้ายจะกระทำโดย เข้าไปทำการแก้ไขข้อมูลรายการรถในระบบงานตรวจสภาพรถ และเชื่อมโยงข้อมูลมายังระบบงานทะเบียนรถยนต์ ก่อนจะมาขอคัดเล่มทะเบียนรถใหม่ เพื่อให้ข้อมูลในะระบบ MDM ของกรมการขนส่งทางบก ตรงกับข้อมูลรถที่ครอบครองและข้อมูลในเล่มทะเบียนรถ จากนั้นจะนำเล่มทะเบียนไปขาย หรือจำนำให้กับกลุ่มลูกค้าที่ชื่นชอบ และสะสมรถเก่าหรือรถโบราณ หรือหากมีลูกค้าต้องการจะทำการแก้ไขข้อมูลรถที่ตัวเองครอบครองอยู่ ซึ่งมีนายศริสร เป็นตัวกลางในการติดต่อกับนายเสถียร ให้ดำเนินการแก้ไขข้อมูลตามที่ลูกค้าต้องการ เมื่อคนร้ายแก้ไขข้อมูลในระบบแล้ว จะติดต่อทางกรมการขนส่งทางบก ว่าเล่มทะเบียนหาย เพื่อขอออกเล่มทะเบียนใหม่

เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบก็ไม่ทราบถึงการแก้ไขดังกล่าว จึงได้ออกเล่มทะเบียนเล่มใหม่ให้รถคันดังกล่าว จะกลายเป็นรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมมีเล่มคู่มือการจดทะเบียนแบบถูกต้อง สามารถนำไปขายหรือโอนต่อได้ โดยเล่มทะเบียนรถยนต์จะขายหรือจำนำ ในราคาประมาณ 500,000-1,500,000 บาท, กรณีจ้างเปลี่ยนข้อมูลจะคิดค่าดำเนินการประมาณ 1,400,000-2,000,000 บาท และหากขายเล่มทะเบียนพร้อมรถยนต์จะขายในราคาประมาณ 1,000,000-3,000,000 บาท ซึ่งระบบของกรมการขนส่งทางบกมีการวางระบบป้องกันอยู่แล้ว แต่ทางผู้ต้องหาอาศัยความคุ้นชินกับเจ้าหน้าที่เข้าไปจดจำรหัสผ่าน โดยใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กส่วนตัว เข้าอินเตอร์เน็ตผ่านไวไฟของกรม ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าระบบผ่านระบบนี้ได้เช่นกัน ทำให้บุคคลภายนอกที่ล็อกอินเข้าใช้อินเทอร์เน็ตเข้าไปในระบบได้ โดยกลุ่มที่ก่อเหตุจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มแรก จะแก้ไขข้อมูลรถยนต์ที่ไม่มีมูลมูลค่า เปลี่ยนเป็นรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง ก่อนที่จะนำเล่มทะเบียนไปขายเล่มละประมาณ 1 ล้านบาท กลุ่มที่สอง คือ คนซื้อเล่มทะเบียนรถไป เพื่อไปหารถยนต์ที่มีสภาพตรงกับข้อมูลในเล่มทะเบียนจากนั้นก็จะไปเปลี่ยนเลขตัวถังรถยนต์ เพราะสามารถยึดที่ปั๊มเพลทรถยนต์ได้ โดยกลุ่มนี้จะขายรถยนต์ราคาประมาณ1 ล้านบาท และเล่มทะเบียนรถยนต์อีก 1 ล้านบาท รวม 2 ล้านบาท และส่วนกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มที่มีรถยนต์ และเล่มทะเบียน แต่จดทะเบียนไม่ได้ จึงว่าจ้างให้อีกคนไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลรถยนต์กับกรมการขนส่งทางบก โดยประสานผ่านผู้ต้องหา มีราคาเปลี่ยนคันละ 1.4-2 ล้านบาท

พล.ต.ท.วรวัฒน์ กล่าวว่า ปฏิบัติการครั้งนี้ สามารถตรวจยึดรถได้จำนวนทั้งสิ้น 65 คัน เป็นรถยนต์ 57 คัน ในจำนวนนี้มีแต่เล่ม 32 คัน มีแต่รถ 2 คัน มีรถพร้อมเล่ม 13 คัน และถูกสวมชื่อ 9 คัน ขณะที่ตรวจยึดรถจักรยานยนต์ 8 คัน ในจำนวนนี้มีแต่เล่ม 2 คัน มีรถพร้อมเล่ม 1 คัน และถูกสวมชื่อ 6 คัน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นแจ้งข้อหาในความผิดตาม ม.7, ม.9 และ ม.14(1) พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการแก้ไขข้อมูล นำข้อมูลปลอมเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ และเข้าถึงรหัสโดยมิชอบ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และหลังจากนี้จะขยายผลถึงกลุ่มอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ครอบครองรถยนต์ที่ต้องสงสัยก็จะออกหมายเรียกให้นำรถยนต์เข้ามาตรวจสอบ รวมทั้งทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ถึงการนำเข้ารถยนต์และการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรถยนต์

ขณะที่นายจิรุตม์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ได้สั่งให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้รายงานผลการสอบสวนโดยเร็ว หากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องก็จะดำเนินคดีในความผิดอาญาและวินัยควบคู่กันไปอีกครั้งจะขอนำข้อมูลการสืบสวนสอบสวนของทางตำรวจไปประกอบการพิจารณาเช่นกัน ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกเกี่ยวข้อง และยังไม่พบว่ามีการขายพาสเวิร์ดให้คนอื่น แต่ครั้งนี้เป็นการตรวจพบของเจ้าของพาสเวิร์ดเอง ที่พบความผิดปกติจึงแจ้งให้ตรวจสอบ โดยผู้ที่รู้พาสเวิร์ดการเข้าระบบนี้มี 7 คน และมีการแก้ไขข้อมูลรถของเจ้าหน้าที่เพียงคนเดียว อย่างไรก็ตาม สำหรับการจดจำรหัสผ่านของผู้ต้องหาก่อนหน้านี้ ก็จะสามารถเข้าระบบอินเทอร์เน็ตด้วยระบบ LAN แต่เมื่ออำนวยความสะดวกใช้เจ้าหน้าที่ใช้แท็บเล็ตในการเข้าระบบตรวจสอบรถยนต์ได้ ก็สามารถล็อกอินเข้าระบบด้วยไวไฟได้ และตรวจสอบในพื้นที่เปิด ทำให้บุคคลภายนอกอาจเห็นเวลาที่เจ้าหน้าที่เข้าระบบได้ แต่พาสเวิร์ดนี้จะต้องเปลี่ยนทุกๆ 3 เดือนอยู่แล้ว ขณะนี้ก็ได้เน้นย้ำให้หน่วยดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวัง และเว้นระยะห่างระหว่างตัวเองและผู้ใช้บริการแล้ว.