จากการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่จากนิทรรศการสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ (New Species of Life) โดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวบรวมนำสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ นำตัวอย่างจริงทั้งพืชและสัตว์ที่ค้นพบในประเทศไทยนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ที่เก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จัดแสดง พาค้นความน่ามหัศจรรย์ในเรื่องราวสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ถูกค้นพบ ค้นประโยชน์การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่

ทั้งนี้ชวนเรียนรู้ธรรมชาติ ค้นเรื่องน่ารู้ที่ค้นได้จากสิ่งมีชีวิตใหม่ โดย ดร.วีระ วิลาศรี ผู้อำนวยการกองวิชาการสัตววิทยา สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ให้ความรู้ในประเด็นนี้ว่า เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์จะรู้จักกันโดยทั่วไปอย่างเช่น ปลาหมอ ปลาดุก ปลาตะเพียน ฯลฯ รู้จักรูปร่างหน้าตาเป็นพืชหรือสัตว์ชนิดนั้น ๆ

แต่เมื่อเรียนรู้ระบบที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นสามารถแยกชนิดสิ่งที่พบเจอได้เพิ่มขึ้น เห็นความต่างโดยอาศัยลักษณะความพิเศษของคุณสมบัติสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ อย่างเช่น ปลาตะเพียนที่รู้จักอาจแยกได้มากกว่า 3 หรือ 4 ชนิด แยกได้โดยกลไกหรือกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้รู้จักกับสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ในธรรมชาติ ได้พบสิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเพิ่มขึ้น

“สิ่งมีชีวิตใหม่ที่นำเสนอผ่านนิทรรศการครั้งนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะพาสัมผัสนับแต่กระบวนการแรกบอกเล่ารายละเอียด ขั้นตอน ความเป็นมา ทั้งนี้สิ่งมีชีวิตใหม่ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นหากแต่มีอยู่มายาวนาน แต่อาจยังสำรวจไปไม่ถึงหรือยังไม่มีการศึกษา โดยครั้งนี้เราพาย้อนหลัง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา พาชมสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ค้นพบในประเทศไทย ค้นประโยชน์ของการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ โดยนำตัวอย่างจริงทั้งพืชและสัตว์ที่ค้นพบในประเทศไทย ที่เก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยานำมาแสดง”

ผู้อำนวยการกองวิชาการสัตววิทยา ดร.วีระอธิบายเพิ่มอีกว่า การค้นพบทำให้เห็นถึงความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติ เห็นสิ่งที่มีมาในอดีตและปัจจุบัน ทั้งนี้ที่นี่เรามีนักวิชาการศึกษาธรรมชาติในกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแมลง พืชพรรณไม้ ฯลฯ และจากการทำงานการค้นพบมีความสำคัญซึ่ง ส่งต่อความรู้จุดประกายการศึกษา การค้นคว้าต่อเนื่องต่อไปอีกหลากหลายมิติ เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้น น่าสนใจทำให้มีข้อมูลใหม่ ๆ โดยหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

สิ่งที่นำมาจัดแสดงอาจเป็นเบื้องต้น ให้เห็นถึงเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตใหม่ที่มีการค้นพบ แสดงการทำงาน ขั้นตอน กระบวนการต่าง ๆ โดยในส่วนนี้มีรายละเอียดบอกเล่าไว้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจเดินทางไปในพื้นที่ การเก็บตัวอย่างเพื่อนำกลับมาศึกษาวิเคราะห์ ทั้งนี้จะเห็นว่าสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ในปัจจุบัน ที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ที่ห่างไกลเข้าถึงยาก เป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ๆ อย่างเช่น กลุ่มแมลง ซึ่งมีความหลากหลาย โดยที่นำมาแสดงเรานำ มดชนิดใหม่ที่ค้นพบ หรือในกลุ่มของปลาจะพบในทะเลลึก พบในแม่นํ้าลำธาร เป็นต้น”

ดร.วีระเล่าขยายเพิ่มอีกว่า ปลาชนิดใหม่ที่ค้นพบในรอบสิบปีอย่างเช่น ปลาในกลุ่ม ปลาเลียหิน ปลารากกล้วย ฯลฯ อย่างปลารากกล้วยที่คุ้นเคย ถ้าสังเกตอย่างละเอียดมีหลายชนิด โดยสิ่งมีชีวิตใหม่ที่จัดแสดงครั้งนี้จะชวนสังเกตถึงความเหมือนที่มีความต่างกัน ศึกษาได้จากตัวอย่างจากพืชและสัตว์

“ในช่วงสิบปีที่พาย้อนไปอย่างที่นำมาแสดง เป็นกรณีศึกษาของนักวิจัยของเรา โดยบอกเล่าสตอรี่การศึกษาวิจัยเชื่อมโยงกับตัวอย่างที่เก็บรักษาไว้ในคลังตัวอย่างพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าความสำคัญ ตระหนักถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่จะทำให้เกิดความสมดุลและยั่งยืนต่อไปในอนาคต”

นอกจากที่กล่าวยังมี ดอกดินอีกหลายชนิด เช่น ดอกดินอรุณรุ่ง ดอกดินปากเหลือง ดอกดินทยา มี หอยจิ๋ว หอยชนิดเล็ก ๆ ที่พบตามหินปูน กุ้ง ปู ที่พบใหม่นำมาจัดแสดง หรือในกลุ่มปลา อาจไม่ใช่เฉพาะที่พบในประเทศไทย แต่เป็นการศึกษาในภาพรวม โดยปลาทะเลส่วนใหญ่อาจต้องเปรียบเทียบกับปลาในหลายพื้นที่หลายภูมิภาค ฯลฯ การค้นพบสิ่งมีชีวิตใหม่นอกจากจะทำให้เรียนรู้ธรรมชาติ แต่ยังส่งต่อถึงการดูแลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกิดการค้นคว้าทดลอง การนำไปใช้ประโยชน์และระวังถึงพิษอันตรายอย่างเหมาะสมและเท่าทัน

ประโยชน์ของการศึกษาสิ่งมีชีวิตยังมีอีกหลายมิติ ผู้อำนวยการกองวิชาการสัตววิทยา ดร.วีระ บอกเล่าเพิ่มอีกว่า ปัจจุบันในเรื่องของ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภาวะโลกร้อน พืชและสัตว์บางชนิดยังร่วมบ่งบอก อย่างเช่นแหล่งนํ้าในธารนํ้าบนภูเขาจากที่เคยสำรวจพบปลาบางชนิดอาศัยอยู่ในจุดที่เคยมี แต่กลับหายไปซึ่งทำให้เห็นว่าแหล่งอาศัย สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัย การมีข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการเตรียมพร้อมตั้งรับความเปลี่ยนแปลงและการฟื้นฟูธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทั้งส่งเสริมให้เกิดความตระหนักดูแลรักษาธรรมชาติ เป็นต้น

“สิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. เป็นนิทรรศการที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ผู้เข้าชมเห็นถึงความสำคัญการค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ เห็นคุณค่าความสำคัญทรัพยากรธรรมชาติใกล้ตัวจากที่กล่าว นำสิ่งที่ถูกค้นพบในประเทศไทยจัดแสดง โดยมีตัวอย่างจริงทั้งที่เป็น ตัวอย่างดองและตัวอย่างแห้ง แสดงกระบวนการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ประโยชน์การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์รวมทั้งนำสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ที่ค้นพบโดยนักวิชาการของ อพวช. จัดแสดง”

ดังเช่น ดอกดินทยา ชื่อวิทยาศาสตร์ Kaempferia jenjittikuliae Noppornch. ซึ่งถูกรายงานเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2564 โดย ดร.ณัฐพล นพพรเจริญกุล นักวิชาการ อพวช. โดยดอกดินทยาเป็นพืชวงศ์ขิงข่า สกุลเปราะ สกุลย่อยดอกดิน พบครั้งแรกในอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ ภายหลังพบเพิ่มเติมในอำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ จัดเป็นพืชถิ่นเดียวของประเทศไทย โดยได้รับการประเมินสถานการณ์อนุรักษ์เป็นพืชที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เป็นต้น เป็นส่วนหนึ่งแสดงความสำคัญของตัวอย่างอ้างอิงทั้งพืชและสัตว์ที่ อพวช. เก็บรักษา

นอกจากนี้มีส่วนแสดง New species and new records of Thailand in last decade and relative species จัดแสดงสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกที่พบในประเทศไทยและชนิดที่มีรายงานครั้งแรกในประเทศไทยในรอบ10 ปี แสดงตัวอย่างจริงทั้งที่เป็นตัวอย่างแห้งและตัวอย่างเปียกเก็บรักษาสภาพไว้ในขวดโหลดองตัวอย่าง จัดวางเป็นหมวดหมู่ตามกลุ่มสิ่งมีชีวิต ได้แก่ มดและแมลง เอคไคโนเดิร์ม หอย กุ้งกั้งปู ปลา สัตว์สะเทินนํ้าสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และพืช มีตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่และตัวอย่างชนิดใกล้เคียงเปรียบเทียบให้ดู มีคำอธิบายสำหรับชนิดที่มีความน่าสนใจเป็นพิเศษ

อีกทั้งนำเสนอเรื่องราวของลักษณะสัณฐานภายในสิ่งมีชีวิตที่ใช้ในการแยกความแตกต่างของชนิดใหม่ แยกจากชนิดใกล้เคียงอื่น ๆ โดยยกตัวอย่างกรณีศึกษาในปลากระดูกแข็ง นอกจากลักษณะสัณฐานภายนอกที่นักวิทยาศาสตร์ใช้ในการบรรยายสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ของโลกแล้วยังมีลักษณะสัณฐานภายในร่างกายบางอย่าง นำมาใช้อธิบายความแตกต่างระหว่างสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่และชนิดใกล้เคียง ดังเช่นยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นใน ปลากระดูกแข็ง ใช้ลักษณะสัณฐานภายในบางอย่างในการแยกชนิด เช่น จำนวนข้อกระดูกสันหลัง กระดูกโอโทลิธ ฯลฯ จัดแสดงมีตัวอย่างโครงกระดูกและกระดูกโอโทลิธให้ชม เป็นต้น

การค้นพบสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ยังคงมีต่อไป ด้วยที่อีกหลายสถานที่ไม่ว่าจะเป็นป่าเขา ทะเลลึก หรือบางจุดบางพื้นที่ยังไปไม่ถึง ยังคงรอคอยการศึกษาสำรวจ การค้นพบเพิ่ม เป็นข้อมูลนำไปสู่การอนุรักษ์ การดูแลธรรมชาติสิ่งแวดล้อม สร้างความยั่งยืนต่อไปในอนาคต.

พงษ์พรรณ บุญเลิศ