เดือน ก.ค. ทุก ๆ ปี ผู้ที่ชื่นชมกีฬาเทนนิสคงจะมีความสุขในการติดตามการแข่งขัน Wimbledon ซึ่งจัดแข่งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1877 และคอร์ตหญ้านี้ คือเสน่ห์ของกีฬาเทนนิสที่หลายคนบอกว่าปราบเซียน เพราะเล่นยากกว่าคอร์ตแข็ง หรือคอร์ตดินมาก และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผู้ที่คว้าแชมป์ Wimbledon 2023 เป็นหนุ่มน้อยมหัศจรรย์จากสเปน Carlos Alcaraz ที่ดับฝันแชมป์เก่า 4 สมัย อย่าง Novak Djokovic อย่างหวุดหวิด อย่างไรก็ตาม คนที่สนใจกีฬาเทนนิสและห่วงใยความยั่งยืน ยังมองลึกไปที่การจัดการผลกระทบสิ่งแวดล้อมของการจัดการแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่ด้วย แล้วทำไมวงการเทนนิสถึงให้ความสำคัญกับวิกฤติโลกร้อนนี้มาก ซึ่งถ้าเราเป็นนักเทนนิสก็คงทราบดีว่า หลายปีมานี้การตีเทนนิสกลางแจ้งร้อนมาก ๆ ขนาดผมยังเกือบ Heatstroke หลายครั้ง เพราะเมืองร้อนมากขึ้น อีกทั้งพอฝนตกก็หนักก็มีพายุแรง ส่วนเมืองหนาวก็หนาวขึ้น แถมมีพายุหิมะยาวนาน ทำให้การจัดแข่งขันต้องหยุดหรือเลื่อนไป เพราะลมฟ้าอากาศแปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่คาดเดามิได้

ย้อนกลับมาที่ Wimbledon ที่เป็นรายการแข่งขันกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งแต่ละปีจะมีผู้เดินทางมาร่วมมากกว่า 500,000 คน จนสร้างร่องรอยคาร์บอนที่จะเร่งโลกให้เกิดวิกฤติเร็วขึ้นได้ ยังไม่รวมพลังการบริโภคและของเสียที่เกิดขึ้นในช่วง 2 อาทิตย์ของการแข่งขัน จนนำมาซึ่งนโยบายการจัดการแข่งขันสีเขียว ที่ Wimbledon ให้ความสนใจมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 โดยมีที่ปรึกษา Sustainability Expert สำรวจผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมิติต่าง ๆ และวางแนวทางปฏิบัติสู่ความยั่งยืนในด้านต่าง ๆ อาทิ “ด้านพลังงาน” มีการลดการใช้แก๊ส โดยหันมาใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด และอนาคตก็จะมีการติดตั้งโรงผลิตไฟฟ้าที่ยั่งยืนของตัวเอง และยังมีการเปลี่ยนรถตัดหญ้าเป็นรถไฟฟ้า ส่วนไฟส่องสว่างก็จะใช้จากพลังงานแสงอาทิตย์ กับมีการเปลี่ยนหลอดไฟทั้งหมดให้เป็นหลอดประหยัดพลังงาน นอกจากนั้นการเดินทางทั้งหมดของคณะจัดงาน เจ้าหน้าที่ 2,500 คน และผู้แข่งขัน 128 คน ก็จะเป็นการเดินทางสีเขียว ด้วยการมีรายการสายการบินและพาหนะที่เป็น Net Zero เพราะ 60% ของคาร์บอนมาจากการเดินทางด้วยสายการบิน ที่สร้างคาร์บอน 20,122 ตัน ซึ่งผู้จัดงานได้ซื้อ Carbon Credit เพื่อ Offset ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว โดยการเดินทางในรายการนี้จะเริ่มใช้รถยนต์ Jaguar ไฟฟ้า 20 คัน และการเดินทางภายในทั้งหมดก็จะเป็นยานยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น ส่วน “ด้านการจัดการอาหารยั่งยืน” ก็มีการจัดการทั้งตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ Farm to Table ก็ได้ถูกวางแผนการจัดการพลังงานที่ใช้ ภาชนะที่รักษ์โลก และการจัดการขยะอาหารอย่างครบวงจร โดยการจัดการขยะจากขวดน้ำพลาสติกจะเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะบริษัทน้ำดื่มที่เป็นพันธมิตรจะผลิตขวดน้ำ 6 ล้านขวดต่อวัน รวมเป็น 84 ล้านขวดในช่วงแข่งขัน ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการที่ดี เช่น ต้องเป็นขวด PET ที่ออกแบบให้ Recycle ได้ 100%, มีการกำหนดจุดทิ้งในบริเวณต่าง ๆ และสร้างแรงจูงใจโดยให้ผู้นำไปทิ้ง Scan QR Code เพื่อนำไปลดราคาสินค้า หรือเพื่อชิงโชคบัตรเข้าชมรอบสุดท้ายด้วย รวมถึงมีการติดตั้งจุดน้ำดื่มกระจายไปทั่วพื้นที่เพื่อลดการใช้ขวดน้ำ นอกจากนี้ ผู้จัดการแข่งขันยังมีการจัดการขยะเป็นปุ๋ยไปสู่ระบบนิเวศรอบ ๆ สนามกีฬา และนี่คือตัวอย่างที่ดีในการจัดการแข่งขันกีฬาแบบยั่งยืน ที่พวกเราทุกคนต้องปรับตัวเพื่อรักษาเกมที่เรารักและโลกใบนี้ไว้ และคำถามก็คือ…การจัดกีฬาของไทย ได้คิดครอบคลุมเช่นนี้หรือยัง?.