สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ว่า กระทรวงกลาโหมกัมพูชาออกแถลงการณ์ เมื่อวันอังคาร ว่า “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์” ของฐานทัพเรือเรียม ที่จังหวัดพระสีหนุ หรือสีหนุวิลล์ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชา ใกล้กับอ่าวไทย “ดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ” และจะมีการทำพิธีบวงสรวงอย่างเป็นทางการ “ภายในอนาคตอันใกล้นี้” โดยยังไม่มีการระบุกำหนดการชัดเจน


ขณะที่ชุดภาพถ่ายดาวเทียมล่าสุดโดย “แบล็กสกาย เทคโนโลยี” ระบุว่า กัมพูชาเดินหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ภายในฐานทัพเรือเรียมอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่มีการก่อสร้างใหม่และเป็นจุดสังเกต คือท่าเรือความยาว 363 เมตร คล้ายเป็นท่าเรือน้ำลึก สำหรับให้เรือขนาดใหญ่จอดเทียบท่า และผู้สันทัดกรณีคาดการณ์ว่า เรือที่จะมาจอดเป็นลำแรก คือเรือของกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน (พีแอลเอ) ที่จะเดินทางมาจากจิบูตี

ภาพถ่ายดาวเทียมโดยบริษัท “แบล็กสกาย เทคโนโลยี” ของสหรัฐ เปรียบเทียบความคืบหน้าโครงการก่อสร้างฐานทัพเรือเรียม เมื่อปี 2564 และ ก.ค. 2566


อนึ่ง ศูนย์การศึกษายุทธศาสตร์และระหว่างประเทศ (ซีเอสไอเอส) ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันวิชาการของสหรัฐ เผยแพร่รายงาน เมื่อเดือน ม.ค. ปีนี้ ว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้น เป็นส่วนหนึ่งของ “ข้อตกลงลับ” ระหว่างกัมพูชากับจีน ตามที่เดอะ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล เคยรายงาน เมื่อปี 2562 ว่าสัญญาดังกล่าว อนุญาตให้จีนใช้ฐานทัพในระยะแรกได้นานถึง 30 ปี ก่อนมีการพิจารณาขยายระยะเวลาทุก 10 ปี โดยพีแอลเอสามารถนำสินทรัพย์ทางทหาร ที่รวมถึงเรือรบและกำลังพลไม่จำกัดจำนวน เข้ามาติดตั้งและประจำการที่ฐานทัพเรือเรียม


อย่างไรก็ตาม สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ยืนกรานมาตลอด ว่ารัฐธรรมนูญของกัมพูชาระบุชัดเจนว่า ห้ามประเทศใดก็ตามเข้ามาประจำการทหารและสรรพาวุธ


ทั้งนี้ รัฐบาลวอชิงตันประกาศมาตรการปิดล้อมด้านอาวุธต่อกัมพูชา เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เนื่องรัฐบาลพนมเปญ “เปิดโอกาสทางทหาร” ให้แก่จีน ในการขยายอิทธิพล และใช้งานทรัพยากรในฐานทัพเรือเรียม ซึ่งเป็นฐานทัพขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ “ไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ด้านความมั่นคง และการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐ” และสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกัมพูชา “ที่ยังคงน่าวิตกกังวล”.

เครดิตภาพ : AFP