เมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่าจากกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม จับกุม นายพีรศิลป์ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดพิษณุโลก ที่ 197/2564 ลงวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ซึ่งต้องหาว่า “ฉ้อโกงประชาชน และโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนหรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน” และยังมีหมายจับในข้อหาเดียวกันอีกสองหมาย คือ หมายจับศาล จ.ขอนแก่น และหมายจับศาล จ.สุรินทร์ รวมทั้งหมด 3 หมายจับ เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมาโดยคนร้ายได้เปิดเฟซบุ๊กชื่อ “เฮียบอล รถบ้าน” หลอกขายสินค้ามือสอง เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถไถนา รถเกี่ยวข้าว รวมไปถึงพ่อวัวพันธุ์บลามันห์ โดยเปิดขายสินค้ามาแล้วประมาณ 3 ปี แต่ไม่เคยมีผู้เสียหายรายใดได้รับสินค้าตามที่ตกลงซื้อขาย ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับประชาชนทั่วประเทศ มูลค่าความเสียหายจำนวนหลายล้านบาท
ก่อนหน้านี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก็ได้มีการจับกุมผู้ต้องหาโพสต์ขายรถยนต์ดังกล่าวในเพจเฟซบุ๊ก “รถหลุดจำนำหลักหมื่น” ซึ่งมีการโพสต์ประกาศชื้อขายรถยนต์หรูและรถต่างๆ วันละไม่ต่ำกว่า 30-40 คัน ในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก โดยอ้างว่าเป็นรถหลุดจำนำสามารถซื้อไปใช้งานได้ถูกต้องตามกฎหมายและต่อภาษีประจำปีได้ แต่จากการตรวจสอบพบว่ารถยนต์ที่ประกาศขาย มีการใช้แผ่นป้ายทะเบียนและแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีปลอม
จะเห็นว่ามิจฉาชีพได้ใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ประชาชนนิยมใช้งาน เป็นช่องทางในการหลอกลวง ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้เคยเตือนภัยแล้ว แต่ก็ยังมีผู้เสียหายตกเป็นเหยื่ออยู่เรื่อยมา จึงขอประชาสัมพันธ์มายังพี่น้องประชาชนที่มีความประสงค์ซื้อรถผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ว่า
ควรเลือกซื้อรถที่ถูกต้องตามกฎหมาย สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ มีสมุดคู่มือการจดทะเบียน หมายเลขตัวถังหมายเลขเครื่องยนต์ ไม่มีการขูดลบ แก้ไข และตรงตามคู่มือการจดทะเบียน มีเอกสารชุดโอนกรรมสิทธิ์ครบถ้วน และควรมีการทำสัญญาซื้อขายที่มีการลงลายมือชื่อทั้งฝ่ายผู้ขายและผู้ซื้อ หากเกิดกรณีมีปัญหาภายหลัง สามารถใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินคดีทางกฎหมายได้ และเมื่อตกลงซื้อขายรถกัน ควรนัดไปแจ้งโอนกรรมสิทธิ์ที่กรมการขนส่งทางบกให้เรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อ หากท่านไม่อยากตกเป็นเหยื่อถูกฉ้อโกงหลอกขายรถ ควรตั้งสติอย่าเห็นแก่รถที่นำมาโฆษณาในราคาถูก และอย่ารีบโอนเงิน ควรตรวจสอบรายละเอียดเบื้องต้นของผู้โพสต์ขายว่าเป็นบัญชีสื่อสังคมออนไลน์จริงหรือบัญชีอวตาร (บัญชีที่สร้างขึ้นมาเพื่อก่ออาชญากรรมออนไลน์) และให้นำชื่อ,หมายเลขบัญชีธนาคาร,หมายเลขโทรศัพท์ และรายละเอียดของผู้ขายทั้งหมด ไปตรวจสอบในเว็บไซต์ Search engine เช่น Google ว่าเคยมีประวัติการโกงหรือไม่อย่างไร และไม่ควรซื้อรถมือสองจากเพจเฟซบุ๊กที่มีการโฆษณาขายรถในลักษณะ รถหลุดจำนำรถหนีไฟแนนซ์ฯ เนื่องจากรถที่นำมาประกาศขายมักเป็นรถที่ได้มาโดยไม่ถูกต้อง เช่น ขาดการชำระค่างวดกับสถาบันการเงิน หรือเป็นรถที่ถูกโจรกรรม ซึ่งผู้ขายอาจมีการปลอมแปลงแผ่นป้ายทะเบียน ป้ายการแสดงการชำระภาษีประจำปี จากนั้นจึงนำมาประกาศขายให้กับประชาชนในราคาถูกกว่าท้องตลาดมาก ซึ่งการซื้อรถลักษณะดังกล่าว หากผู้ซื้อรู้หรือควรรู้ได้ว่ารถคันดังกล่าวได้มาโดยผิดกฎหมาย ผู้ซื้อหรือผู้ครอบครองรถดังกล่าวอาจถูกจับกุมดำเนินคดีในข้อหา ลักทรัพย์หรือรับของโจร ปลอมและใช้เอกสารราชการปลอม หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง แล้วแต่กรณี นอกจากนี้ผู้ซื้อยังเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวง หากผู้ขายขอให้โอนเงินมัดจำก่อน และเมื่อผู้ขายได้รับเงินมัดจำแล้วอาจบล็อกบัญชีของผู้ซื้อ ทำให้ไม่สามารถติดต่อได้และสูญเสียเงินมัดจำได้
ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือมายังพี่น้องประชาชน หากพบเห็นการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 และสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง