ประเทศไทยได้มีการตั้งเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608) โดยกลไกสำคัญเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น

พลังงานทดแทน คือ พลังงานที่ใช้ทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิล อาทิ ถ่านหิน ปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจัดเป็นพลังงานหลักที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในปัจจุบัน และมีแต่ใช้แล้วจะหมดไป อีกทั้งเป็นสาเหตุหลักของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดย พลังงานทดแทนที่สำคัญได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานนํ้า พลังงานลม และพลังงานจากชีวมวล เป็นต้น โดยสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภท

1. พลังงานตามธรรมชาติ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานนํ้า พลังงานความร้อนใต้พิภพ

2. พลังงานจากวัตถุดิบเหลือทิ้ง ได้แก่ ชีวมวล ขยะ ก๊าซชีวภาพ ไบโอดีเซล ไบโอเอทานอล

ข้อดีของการใช้พลังงานทดแทน

เป็นพลังงานทดแทนที่สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ได้เรื่อย ๆ โดยไม่มีวันหมดไป เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดผลกระทบ มลภาวะ และมลพิษที่ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกระบวนการแปรรูปเชื้อเพลิงฟอสซิล และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได
ออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนทำให้สภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ ของประเทศดีขึ้น เนื่องจากสามารถผลิตพลังงานใช้เองได้ และสามารถกระจายรายได้ไปสู่ประชากรอย่างดี

พร้อมช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัว ลดการนำเข้านํ้ามันเชื้อเพลิงต่างประเทศ เนื่องจากประชาชนหันมาใช้ผลผลิตจากแหล่งธรรมชาติที่ผลิตได้เองภายในประเทศ ช่วยในการป้องกันปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงมลพิษต่าง ๆ เนื่องจากพลังงานจำพวกปิโตรเลียมถูกใช้น้อยลง และอีกกลไกหนึ่งที่มีความสำคัญและหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญ ได้แก่ การนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ซึ่งพลังงานไฮโดรเจนเป็นพลังงานทดแทนในรูปแบบใหม่
ที่สามารถลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีศักยภาพสามารถใช้ได้ทั้งในการผลิตไฟฟ้า ภาคความร้อน และภาคขนส่ง โดยในส่วนของประเทศไทยก็ได้มีการบรรจุการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนอยู่ในแผนพลังงานชาติ ในด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก.