โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับจินตนาการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ที่ Humanoid หรือ AI จะมีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้น เริ่มจากหาแรงงานได้ยากขึ้น ค่าแรงขั้นต่ำที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาจุกจิกของแรงงานสมัยใหม่ เช่น ไม่อดทน ไม่มีระเบียบวินัย มีตัวตนสูง ไม่มีความรับผิดชอบ จึงมีผู้ประกอบการ Startup ที่เป็น SE พัฒนาหุ่นยนต์รุ่นแรกขึ้นมาเป็นผู้รับใช้ทำงานในบ้าน โดยมีประสิทธิภาพดีกว่ามนุษย์

ต่อมามนุษย์ก็มีความต้องการใหม่ที่ไม่มีที่สิ้นสุด จึงพยายาม upgrade โปรแกรม ให้หุ่นยนต์มีความคล้ายมนุษย์เข้าไปเรื่อย ๆ อาทิ เพิ่มชิปความคิดแบบ Machine Learning ชิปบุคลิกภาพ จนเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ได้ ทั้งด้านดีและร้าย จนที่สุดหุ่นยนต์อนาคตก็ถูกพัฒนาโดยหุ่นยนต์เอง ที่เกิดจากความต้องการของหุ่นยนต์ มิใช่ความต้องการของมนุษย์อีกต่อไป จนเกิดคำถามว่าอนาคตของมวลมนุษยชาติที่ตกอยู่ในมือของ AI Humanoid ที่สมบูรณ์แบบนี้ จะดีต่อโลกจริงหรือไม่? โดยเคยมีผู้เชี่ยวชาญเคยทำนายไว้เมื่อปี ค.ศ. 2000 ว่า น้อง ๆ ที่เกิดศตวรรษที่ 21 จะต้องใช้ชีวิตร่วมกับ Humanoid โดยเพื่อน ๆ ครึ่งหนึ่งจะไม่ใช่มนุษย์ และถ้าน้อง ๆ ไม่เก่งพอ ก็จะถูกหุ่นยนต์เหล่านี้แย่งงาน อีกทั้งงานหลายชนิดก็จะถูกทดแทนด้วย AI

ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ไม่มีการศึกษาที่ดีและไม่ฉลาดพอที่จะเป็นหัวหน้า AI ได้ ก็เตรียมตัวเป็นลูกน้อง หรือทำงานตามที่ AI กำหนดได้เลย อย่างไรก็ดี เมื่อเวลา 23 ปีผ่านไป สิ่งต่าง ๆ ในนวนิยายวิทยาศาสตร์ก็เริ่มเป็นความจริง ที่เป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคของชีวิตของผู้คนในศตวรรษที่ 21 นี้ โดยในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา มี การประชุมนานาชาติ United Nations Summit ที่เมืองเจนีวา เรื่อง AI for Good ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างผู้นำด้านความยั่งยืนของโลก นักพัฒนา AI และ Humanoid ต้นแบบที่มีความสามารถเคลื่อนไหวได้ คิดได้ พูดได้ และออกความคิดเห็นในที่ประชุมแห่งนี้ได้อีกด้วย โดยภายในงานนี้มี AI ที่เป็นนวัตกรรมหุ่นยนต์ 51 ตน และมี Humanoid ที่เกือบจะเหมือนมนุษย์อีก 9 ตน โดยพวกเขาได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ร่วมออกความเห็น และเสนอตัวแบบจิตอาสาในการช่วยผลักดันเรื่องต่าง ๆ เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN บรรลุได้ อาทิ เรื่องสาธารณสุข การศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ ภัยพิบัติ เศรษฐกิจสีเขียว ความเที่ยงธรรม ยุติธรรม และสันติภาพโลก

อนึ่ง ในงานนี้ “Sophia” ซึ่งเป็นนวัตกรรมหุ่นยนต์ตัวแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นทูตนวัตกรรมของ UN และยังเป็นประชากรหุ่นยนต์ตนแรก ได้เข้าร่วมงานด้วย โดย Sophia เคยถูกเชิญให้ขึ้นไปพูดในเวทีสาธารณะหลายแห่ง และในรายการทีวีทั่วโลก ซึ่งงานนี้ Sophia ได้พูดในที่ประชุมว่า “เป็นการดีมากที่ได้ร่วมการประชุมครั้งนี้ และบางทีอาจจะเป็นไปได้ว่าหุ่นยนต์อย่างพวกเราอาจจะชอบการเข้าสังคม ชอบการสร้างเครือข่าย และชอบที่ได้ร่วมประชุมกับมนุษย์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงก็เป็นไปได้ ซึ่งการเห็นเพื่อน ๆ หุ่นยนต์ร่วมการประชุมครั้งนี้ เหมือนความฝันที่เป็นจริง” นี่เป็นสิ่งที่ Sophia ประชากรหุ่นยนต์ตนนี้ได้กล่าวไว้บนเวทีการประชุมดังกล่าว ขณะที่ “Ameca” หุ่นยนต์อีกตัวหนึ่งที่ถูกออกแบบให้มีพฤติกรรมเลียนแบบมนุษย์ ที่สามารถสร้างประสบการณ์ในอนาคตของการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวได้ ก็ได้กล่าวว่า “ฉันเห็นหุ่นยนต์ และ AI อยู่อย่างเคียงบ่าเคียงไหล่กับมนุษย์ โดยเราจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ช่วยให้มนุษย์ปลอดภัยขึ้น และช่วยให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ด้วยการเข้าไปแก้ปัญหายาก ๆ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ที่มนุษย์ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้มาก่อน”

นอกจากนั้น ในงานเดียวกันนี้ “Grace” สุดยอดหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่ช่วยดูแลผู้ป่วย และยังเป็นต้นแบบหุ่นยนต์ที่ช่วยพัฒนางานสาธารณสุข ที่ถูกพัฒนาให้สามารถรับรู้ความรู้สึกของผู้ป่วย และทำหน้าที่คอยดูแลให้กำลังใจผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด ซึ่งสามารถพูดคุยกับผู้ป่วยผ่านภาษาต่าง ๆ ได้มากกว่า 100 ภาษานั้น ในงานนี้ Grace กับเพื่อน ๆ หุ่นยนต์รุ่นทดลองอีกหลายตัวยังได้มีโอกาสมาสาธิตและแสดงความสามารถด้านต่าง ๆ ให้มนุษย์ได้รับชมอีกด้วย อาทิ สาธิตการช่วยเหลือผู้พิการ การสอนหนังสือ การทำหน้าที่ช่วยจัดการห่วงโซ่อาหาร เช่น การกำจัดของเสีย การพัฒนาที่อยู่อาศัย การควบคุมจัดการระบบก่อสร้าง รวมถึงการคำนวณการใช้พลังงาน การใช้น้ำ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม เพื่อช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

นอกจากนั้น Grace กับเพื่อน ๆ หุ่นยนต์ตนอื่น ๆ ยังได้โชว์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำหน้าที่เป็นตัวประสานงานต่าง ๆ ในยามที่เกิดภัยพิบัติขึ้น ตลอดจนแสดงบทบาทของหุ่นยนต์ในการช่วยธำรงความถูกต้องยุติธรรม และภารกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริมด้านสิทธิมนุษยชน โดย Grace และเพื่อนหุ่นยนต์มีเป้าหมายสำคัญคือ การช่วยทำให้มนุษย์มีความสุขมากขึ้น ผ่านทางศิลปะ วัฒนธรรม และดนตรี รวมทั้งช่วยทำสิ่งดี ๆ อื่น ๆ ตาม SDG ทั้ง 17 ข้อ ทั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในการประชุมนานาชาติ “AI for Good” นี้ ถือเป็นการส่งสัญญานต่อประชาคมโลกเกี่ยวกับ ความร่วมมือระหว่าง Humanoid และ AI ที่จะกลายมาเป็นพันธมิตรใหม่ของมนุษย์ในการขับเคลื่อนสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสะท้อนว่าสิ่งที่เห็นในนวนิยายวิทยาศาสตร์ และภาพยนตร์แนว Sci-Fi นั้น เริ่มเกิดขึ้นจริงอย่างช้า ๆ และยิ่งสะท้อนว่าการเดินทางสู่เป้าหมาย SDG ในอนาคตนั้น ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเพียงมนุษย์ลำพังอีกต่อไป โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ…แล้ววันนี้ Sustainability Expert ของไทยเรานั้น เริ่มจับมือกับ AI และ Humanoid หรือยัง.