สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ว่า เสือชีตาห์เอเชียได้รับการประกาศว่าสูญพันธุ์ไปจากอินเดียอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2495 แต่อินเดียพยายามนำเสือชีตาห์กลับสู่ธรรมชาติของประเทศอีกครั้ง ตามส่วนหนึ่งของแผนการที่ได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย
อินเดียนำเข้าเสือชีตาห์ 8 ตัว จากนามิเบีย ตามด้วยเสือชีตาห์อีก 12 ตัว ที่มาจากแอฟริกาใต้ เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา โดยโมดีเป็นประธานในการปล่อยเสือชุดแรกเข้าสู่อุทยานแห่งชาติคูโน ในรัฐมัธยประเทศ ทางตอนกลางของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม เสือชีตาห์ 8 ตัว กลับตายในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่ด้านสัตว์ป่าระบุว่า การตายดังกล่าวเป็นการตายด้วยสาเหตุธรรมชาติ แต่นายจัสบีร์ สิงห์ เจาหาน เจ้าหน้าที่ด้านสัตว์ป่าระดับสูง ถูกกรมป่าไม้ของรัฐ โยกย้ายออกจากตำแหน่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา โดยไม่ให้เหตุผลในการปลดเขา
แม้กระทรวงสิ่งแวดล้อมอินเดียระบุว่า มันยังเกินไปที่จะประกาศว่าโครงการ “โปรเจกต์ ชีตาห์” ประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลว เนื่องจากมันเป็นโครงการระยะยาว พร้อมกับเสริมว่า ระยะเริ่มต้นของการนำเสือชีตาห์กลับมายังอินเดีย มีโอกาสทำให้เสือตายมากกว่า 50% ทว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างกังวลเกี่ยวกับการจัดการโครงการนี้ เช่นเดียวกับนายปราวีน บาร์กาวา ที่มองว่า โครงการดังกล่าวจะล้มเหลว เพราะปัญหาพื้นฐานหลายอย่างถูกละเลย
“ผมเชื่อว่านายกรัฐมนตรีเข้าใจผิด เพราะข้าราชการและผู้สันทัดกรณีบางคน เนื่องจากประเทศเราไม่มีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยที่เสือชีตาห์ต้องการ และสภาพแวดล้อมทางนิเวศอื่น ๆ ในการพยายามนำพวกมันกลับคืนสู่ธรรมชาติที่ซับซ้อนเช่นนี้” บาร์กาวา กล่าว
ด้านนายอรชุน โคปาลสวามี นักนิเวศวิทยาสัตว์ป่าและสถิติ กล่าวว่า เขารู้สึกผิดหวังกับการเริ่มต้นของโครงการ และทางการอินเดีย ควรชี้แจงถึงสาเหตุการตายของเสือชีตาห์อย่างโปร่งใสมากกว่านี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่สัตว์ป่ากล่าวว่า เสือชีตาห์บางตัวอาจตายเพราะการติดเชื้อที่เกิดจากปลอกคอติดตามของพวกมัน.
เครดิตภาพ : AFP