เมื่อวันที่ 19 ก.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ หรือ ว16 สังกัดสำนักงาคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี 2566 ซึ่งมีจำนวนอัตราว่างทั้งสิ้น 8,061 อัตรา โดยเปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 21-27 ก.ค. 2566  สอบข้อเขียน ภาค ก ความรอบรู้ ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความประพฤติและการปฏิบัติของวิชาชีพครู ภาค ข ความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง วันที่ 19 ส.ค. 2566 สอบสัมภาษณ์ วันที่ 20 ส.ค. 2566 และประกาศผลการคัดเลือก ภายในวันที่ 24 ส.ค. 2566 นั้น ซึ่งเป็นการสอบที่เปิดโอกาสให้แก่กลุ่มครูอัตราจ้างที่ปฏิบัติหน้าที่การสอนในสถานศึกษามาเป็นเวลานานหลายปี ได้มีโอกาสสอบบรรจุเป็นข้าราชการ ทั้งนี้การจัดสอบดังกล่าว ตนขอให้ดำเนินการด้วยความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยต้องให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย

“ส่วนประเด็นการสอบครูผู้ช่วยรอบทั่วไปที่มีการดำเนินเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน และมีเสียงสะท้อนถึงการออกข้อสอบที่ไม่ได้มาตรฐาน จนมีข้อเสนอให้มีการจัดทำข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลางนั้น ขณะนี้ได้รับทราบว่า สพฐ. และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) กำลังวิเคราะห์ข้อสอบจากกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ อยู่ว่า มีจุดด้อยอย่างไร และผู้สมัครที่สอบผ่านและที่สอบไม่ผ่านมาจากสาเหตุใดบ้าง โดยเจตนารมณ์ของการออกข้อสอบตามกลุ่มคลัสเตอร์ต่างๆ ก็เพื่อต้องการให้เกิดการกระจายอำนาจและมีความโปร่งใสในการปฏิบัติ อีกทั้งสถานศึกษาที่ออกข้อสอบเป็นสถาบันที่ผลิตนักศึกษาครูออกมาเอง จึงเชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่เมื่อผลสอบออกมาที่ไม่ได้มาตรฐานกลางเช่นนี้ เราจำเป็นจะต้องถอดบทเรียน เพื่อวางแนวทางการแก้ปัญหาในอนาคต ซึ่งเร็วๆ นี้ จะได้ข้อสรุปทั้งหมดและมีข้อสอบที่เป็นมาตรฐานกลางในการสอบครูผู้ช่วยครั้งต่อไปอย่างแน่นอน” รมว.ศธ. กล่าว

สำหรับการสอบครูผู้ช่วยกรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ มีจำนวนอัตราว่างทั้งสิ้น 8,061 อัตรา แบ่งเป็น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 181 เขต พื้นที่ปกติ 5,487 อัตรา พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) 393 อัตรา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) พื้นที่ปกติ 219 อัตรา พื้นที่ จชต. 13 อัตรา และสำนักงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) พื้นที่ปกติ 1,831 อัตรา พื้นที่ จชต. 118 อัตรา โดยมีกลุ่มวิชาที่เปิดสอบคัดเลือก 50 กลุ่มวิชา