นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า จากกรณีน้ำมันรั่วไหลที่ท่าเทียบเรือแหลมฉบัง (B4) ทำให้ไหลลงสู่ทะเล ภายในเขตท่าเทียบเรือแหลมฉบัง ต.ทุ่งสุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กรมเจ้าท่า โดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรี ได้รับแจ้งจากสำนักงานควบคุมการจราจรและความปลอดภัยทางทะเล เมื่อเวลา 02.15 น. วันที่ 7 ก.ย.64 พบคราบน้ำมันในทะเลบริเวณหน้าท่าเทียบเรือ B4 จากการตรวจสอบพื้นที่พบว่าเรือ M.V. ACX PEARL เป็นเรือสัญชาติไลบีเรีย IMO NUMBER 9360623 มีนาย VOLODYMYR SADOVSKY เป็นนายเรือ ได้ปั๊มน้ำปนน้ำมันออกจากเรือ ทำให้มีน้ำมันเชื้อเพลิง รั่วไหลออกนอกตัวเรือลงสู่ทะเล โดยมีปริมาณ 900 ลิตรนั้น
สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาชลบุรี เข้าบูรณาการสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องมือร่วมแก้ไขในทันที เพื่อขจัดคราบน้ำมันให้เร็วที่สุด ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยนำเรือขจัดคราบน้ำมัน และอุปกรณ์จัดเก็บคราบน้ำมันเพื่อเข้าระงับน้ำมัน ใช้บูมล้อมรอบตัวเรือ เพื่อไม่ให้คราบน้ำมันไหลออกเป็นวงกว้าง และให้กักเรือฯ ลำดังกล่าว พร้อมได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ กล่าวโทษกับเจ้าของเรือและผู้ควบคุมเรือ ในฐานะเจ้าท่ากับสถานีตำรวจแหลมฉบัง จ.ชลบุรี
ในข้อหาการกระทำความผิดตามมาตรา 119 ทวิ ของพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใด ๆ ให้น้ำมันและเคมีภัณฑ์ หรือสิ่งใดๆ ลงในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบอันเป็นทางสัญจรของประชาชน หรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน หรือทะเล ภายในน่านน้ำไทย อันอาจจะเป็นเหตุให้เกิดเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตหรือต่อสิ่งแวดล้อม หรือเป็นอันตรายต่อการเดินเรือในแม่น้ำ ลำคลอง บึง อ่างเก็บน้ำ หรือทะเลสาบดังกล่าว ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และต้องชดใช้เงินค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปในการแก้ไข สิ่งเป็นพิษหรือชดใช้ค่าเสียหายเหล่านั้นด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นของตอนกฎหมาย
ทั้งนี้ได้สั่งการให้นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องประชุมด่วนร่วมกับท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือกรุงเทพ และสมาคมเรือภาคเอกชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำผิดทางกฎหมาย และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และห้ามปล่อยเรือฯ ที่กระทำความผิดจนกว่าจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเรียบร้อย และให้เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เข้มงวดกวดขันให้ปฏิบัติตามมาตรการอย่างมีระบบแบบแผนและเป็นไปตามข้อกฎหมายอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก
รวมถึงการเชื่อมโยงกล้อง CCTV แต่ละท่าเรือ โดยให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อตรวจตราป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย ตลอดจนรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามนโยบาย องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization, IMO) ต้องผ่าน น่านน้ำไทยต้องปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม พร้อมพัฒนากิจการพาณิชยนาวีไทย