นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า ดีป้าร่วมกับ สถาบันไอเอ็มซี สำรวจข้อมูลอุตสาหกรรมดิจิทัลไทย ประจำปี 63 ใน 3 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์, อุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ และ อุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล ทั้งในส่วนของข้อมูลรายได้ และการจ้างงาน โดยนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) มาใช้คำนวณร่วมกัน ซึ่งผลสำรวจภาพรวมมูลค่าอุตสาหกรรมอยู่ที่ 6.5 แสนล้านบาท เติบโต 7.76% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าที่ 6 แสนล้านบาท

โดยอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัลเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 44.42% มีมูลค่าอยู่ที่ 2.44 แสนล้านบาท จากที่ปี 62 มีมูลค่า 1.7 แสนล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของมูลค่าตลาดออนไลน์ มีเดีย, อี-โลจิกติกส์ และอี-รีเทล ซึ่งการเติบโตจะยังคงอยู่ในระดับสูง เนื่องจาก โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมคนไทย เปลี่ยนไปใช้บริการดิจิทัล ผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น คุ้นชินกับวิถีชีวิตแบบนิวนอร์มัล ทั้งการซื้อสินค้า ชมซีรีส์ รวมถึงนโยบายภาครัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ อาทิ คนละครึ่ง ชิมช้อปใช้ เราชนะ ฯลฯ การเรียนออนไลน์ และ เวิร์ก ฟรอม โฮม  ขณะที่ด้านบุคลากรในอุตสาหกรรมมี 8 หมื่นคน เพิ่มจากปี 62 เพียง 17.9% โดยยังขาดแคลนกำลังคน กลุ่มโปรแกรมเมอร์

นายณัฐพล กล่าวต่อว่า สำหรับมูลค่าอุตสาหกรรมตลาดซอฟต์แวร์ และบริการซอฟต์แวร์ อยู่ที่ 1.31 แสนล้านบาท ลดลง 2.61% จากปี 62 ที่มีมูลค่า 1.34 แสนล้านบาท หลังได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ วิกฤติโควิด-19 ทำให้ ธุรกิจอีกส่วนหนึ่งที่ชะลอการลงทุน ส่วนด้านบุคลากรในอุตสาหกรรม มีประมาณ 1 แสนคน แบ่งเป็นบุคลากรสายดิจิทัล 50,000 คน คิดเป็น 53.88% และพนักงานด้านอื่น ๆ เฉลี่ย 50,000 คน สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์ และอุปกรณ์อัจฉริยะมีมูลค่า 2.74 แสนล้านบาท ลดลง 8.34% จากปี 62 ที่มีมูลค่า 2.99 แสนล้านบาท เหตุจากมาตรการล็อกดาวน์ ปิดห้างสรรพสินค้า ส่งผลต่อยอดขาย ด้านบุคลากร มีจำนวนกว่า 3 แสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 62 ถึง 53.24% ซึ่งกว่า 70% เป็นพนักงานการตลาดและการขาย

“การเก็บภาษีอี-เซอร์วิส แพลตฟอร์มดิจิทัลต่างชาติเชื่อว่าจะทำให้ผลสำรวจของปี 64 จะเติบโตไม่น้อยกว่า 2 หลัก มูลค่าอาจแตะ 7 แสนล้านบาทได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า เนื่องจากที่ผ่านมาไม่ถูกนำรวมเข้ามาในการสำรวจ เชื่อว่าเชื่อว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยจะขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจฐานบริการอย่างแน่นอน” นายณัฐพล กล่าว

สำหรับปัญหาขาดกำลังคนดิจิทัล ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพนับเป็นปัญหาเรื้อรังที่ ดีป้า ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ดีป้า พร้อมด้วยพันธมิตร ทั้งภาคเอกชนและภาคการศึกษา ดำเนินการ Upskill กำลังคนสายดิจิทัล และ Reskill สายวิชาชีพอื่นให้มีทักษะดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของอุตสาหกรรมดิจิทัล รวมถึงภาคอุตสาหกรรมอื่นด้วย

“ดีป้า ยังให้ความสำคัญกับ Post-COVID-19 โดยตั้งเป้าหมายระยะสั้น เพื่อให้นโยบายเกิดความชัดเจนในการปฏิบัติคือ การสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัลเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย 1) High Value Software 2) Digital Service 3) Digital Content และ 4) การให้บริการฮาร์ดแวร์ หากการลงทุนเหล่านี้เกิดขึ้นได้ในประเทศไทยจะทำให้เกิดการทรานส์ฟอร์มในเซกเตอร์ใหม่ที่เป็นทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเราคำนึงถึงเสมอว่าจะทำให้อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นทุนของประเทศได้อย่างไร ส่วนหน้าที่ของเราคือ การทำให้เกิดแนวทางในการแก้ไขปัญหา และทำให้เมืองไทยเป็น Digital Hub” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ด้าน นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า ปี 63 ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้สังคมปรับตัวสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วขึ้น มีการใช้บริการดิจิทัลมากขึ้น จึงทำให้ภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยเติบโตอย่างมาก แต่ในแง่ของซอฟต์แวร์มีการเปลี่ยนรูปแบบไปใช้บริการ Cloud Computing มากขึ้น และบางส่วนหันไปซื้อตรงจากต่างประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะมีมูลค่าการนำเข้าที่ลดลง

“สำหรับปี 64 สถานการณ์อาจเป็นเช่นเดิม โดยมูลค่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีแนวโน้มที่จะลดลง แต่ในทางกลับกัน มูลค่าการนำเข้าอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะจะขยายตัว อาจเป็นเพราะในปีที่ผ่านมามีการชะลอตัวลง ทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าใหม่ ส่วนอุตสาหกรรมบริการดิจิทัลยังมีอัตราการเติบโตที่สูง เพราะผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้บริการผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น และคาดว่า ปี 65 เป็นต้นไป สถานการณ์อุตสาหกรรมดิจิทัลในทุกกลุ่มน่าจะมีการกลับมาเติบโตดังเดิม” ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าว