เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ บก.ปปป. นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำนายมนตรี เกตุจรัส ผู้ประกอบกิจการรถยนต์จดประกอบ พร้อมด้วย เข้าร้องพนักงานสอบสวน กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. เพื่อให้สืบสวนขยายผล กรณีที่นายมนตรี ถูกเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ บุกค้นและอายัดรถหรูไป 37 คัน เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก่อนจะคืนรถยนต์ของกลางบางส่วนและจนถึงขณะนี้ทางดีเอสไอ ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา
นายอัจฉริยะ กล่าวว่า วันนี้นำผู้เสียหายมาร้องทุกข์ต่อ บก.ปปป. ให้ดำเนินการตรวจสอบกรณีการยึดรถหรูของนายมนตรีเมื่อเก้าปีที่แล้ว ซึ่งปัจจุบันไม่สามารถที่จะแจ้งข้อกล่าวหาได้ทั้งหมด ที่แจ้งได้เลยเพียงแค่คันเดียวจากจำนวน 37 คัน และปัจจุบันมีการคืนรถกลับมาเพียงแค่บางส่วน ทั้งนี้ในกรณีของ ดีเอสไอ มีลักษณะคล้ายเครือข่ายของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีตผู้กำกับโจ้ โดยมีจุดเริ่มต้น มาจากคดีที่ดีเอสไอ รับผิดชอบสอบสวนเรื่องรถยนต์หรู และพบว่ามีไฟไหม้รถยนต์หรู จำนวน 6 คัน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จากนั้น ดีเอสไอ ตั้งเรื่องเป็นคดีพิเศษเพื่อขยายผลตรวจสอบรถยนต์หรูทั่วประเทศ โดยใช้งบประมาณทำคดีมากถึง 1,400 ล้านบาท หรือ ตกคดีละ 2 แสนบาท ซึ่งพฤติการณ์ของดีเอสไอ คล้ายกับกรณีของ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ คือ มีการดำเนินการเพื่อหวังเงินรางวัลนำจับที่สูงถึง ร้อยละ 55 โดยแอบอ้างปั้นสายลับ เป็นผู้ให้ข้อมูลนำจับ เพื่อให้เข้าเงื่อนไข ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร มาตรา 27 ที่ระบุว่า ต้องเป็นการนำเข้ารถมาทั้งคัน ไม่ใช่การแยกชิ้นมาประกอบ แต่กรณีของดีเอสไอ ไม่เข้าเงื่อนไข เพราะคดีของดีเอสไอ จับผู้นำเข้าชิ้นส่วนที่มีการเสียภาษีเรียบร้อยแล้ว และมาจดประกอบรถยนต์ โดยเฉพาะ นายมนตรี เสียภาษีถูกต้องตามขั้นตอนทั้งหมด จึงไม่เข้าเงื่อนไข ดังนั้น จึงมีความพยายาม ตั้งงบการดำเนินคดี คันละ 2 แสนบาท รวมทั้ง 7,000 คันเป็นเงินกว่า 1,400 ล้านบาท และมีการขยายผลตรวจค้นโรงงานจดประกอบรถหรูทั่วประเทศ จำนวน 6 จุด ซึ่งรวมถึงโรงงานของนายมนตรีด้วย ซึ่งจนถึง ขณะนี้ผู้เสียหายทั้งหมด ที่โดนยึดรถยนต์หรูไว้ ยังไม่ได้รถคืน และดีเอสไอ ไม่สามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้
ทั้งนี้จึงมาร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ และพวก รวมทั้งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนปัจจุบัน ในฐานความผิด ม.157 ในส่วนกรณีที่ทางอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษคนปัจจุบัน ออกมาแถลงข่าวเรื่องการคืนรถของกลางในคดี พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล หรือ อดีตผู้กำกับโจ้ ก็ไม่เป็นความจริงมีการแย้งกันที่อัยการสูงสุด จึงยังไม่สามารถคืนรถของกลางได้ อีกทั้งที่มีการระบุเงินหลักประกัน 15 ล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริงเพราะหากเทียบกับคดีของนายมนตรี ก็ไม่ได้มีหลักประกันอะไร ซึ่งการมายึดแม้มีคำสั่งศาล แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ซึ่งมีหลายกรณีที่โดนลักษณะแบบนี้
ขณะที่ นายมนตรี กล่าวว่า หลังเกิดเหตุที่ถูกยึดรถไป 37 คัน ตนก็พยายามสอบถามเพื่อที่จะติดต่อขอรถคืนเป็นระยะก่อนได้รับการติดต่อคืนมาเพียง 3 คัน ผ่านไป 4-5 ปีสอบถามไปก็คืนมาอีก 1 คัน จนทนไม่ไหวจึงได้ไปร้องทุกข์ต่อศาลทุจริต พอทางกรมสอบสวนคดีพิเศษทราบข่าวว่า ตนได้มีการร้องทุกข์กับโทษก็มีการคืนรถมาอีก 4 คัน และคืนมาอีก1 คัน ทั้งนี้ยืนยันตนเสียภาษีชิ้นส่วนนำเข้าอย่างถูกต้อง ส่วนเรื่องการนำเข้าขิ้นส่วนอะไหล่ ก็มีการเสียภาษีถูกต้องเช่นกัน แต่เมื่อดีเอสไอ เข้ามาอายัดและอ้างว่า ไม่มีการเสียภาษีชิ้นส่วนถูกต้อง จึงไม่เป็นความจริง และมีหลักฐานเอกสารการจ่ายภาษีครบทุกขั้นตอน โดยที่ผ่านมา เคยชี้แจงไปที่ ดีเอสไอ แต่ไม่คืบหน้า แต่ดีเอสไอ คืนรถยนต์กลับมาให้จำนวน 9 คัน และ ดีเอสไอ อายัดไว้อีก 28 คัน จึงนำเรื่องมาร้องทุกข์ผ่านทาง บก.ปปป.เพื่อขอความเป็นธรรม
เบื้องต้นพนักงานสอบสวน ปปป. รับเรื่องราวไว้สอบสวน ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการ โดยเตรียมเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมในภายหลังต่อไป.