แต่ผู้ที่รับผิดชอบคงตั้งใจเตือนเราด้วยความหวังดี ห่วงใย เพราะตรงสิ้นสุดทางเลื่อนนี้ มันอันตรายมากเหมือนสุดทางหายนะ … จะดีกว่านี้มั้ย ถ้าผู้ที่รับผิดชอบหมั่นตรวจตรา บำรุงรักษา ให้ได้มาตรฐานตามหลักสากล

ออกจาก ตม. ผมก็เดินต่อมา พอเห็นบันไดเลื่อน ผมถึงกับผวาอีกครั้ง ว่าจะต้องคอยเขย่ง ก้าว กระโดด อย่างไรให้ปลอดภัย … ไม่ดีกว่า ใช้ลิฟต์ ก็ได้ พอประตูลิฟต์เปิด ผมก็ฉุกคิดอีกครั้ง ไม่มีรายงานว่าการบำรุงรักษาครั้งล่าสุดเมื่อไร ว่าแล้วแบกกระเป๋าเดินลงบันไดดีกว่า

เมื่อถึงจุดเรียก Taxi เพื่อนผมอำว่า ลองเรียก Taxi แบบไม่มีคนขับมั้ย แค่เชื่อม app เปิดแผนที่ google map แล้วบอกว่าจะไปไหน รถจะไปส่งอย่างปลอดภัย นั่งหลับไปได้เลย ผมบอกเพื่อนว่าเรียก Taxi ปกติดีกว่า แม้ว่าเราจะไม่รู้ว่าเขาควงกะมากี่กะแล้ว แต่ถ้ามีปัญหายังคุยกันได้ แต่ถ้า app ผิดพลาด ต้องมาถกเถียงกันอีกว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร ระหว่าง app หรือสัญญาณ internet 5G หรือ ระบบของอัจฉริยะของรถ แถมประกันยังไม่รับผิดชอบนวัตกรรมเหล่านี้ด้วย

ระหว่างทาง ผมเห็นมอเตอร์ไซค์ ที่มีตรา logo บริษัทขนส่งสินค้าออนไลน์ บริษัทอาหารดิลิเวอรี่ วิ่งบนฟุตปาธบ้าง ย้อนศรบ้าง เพื่อนำสินค้าไปถึงมือผู้รับให้เร็วที่สุด โดยไม่สนใจกฎระเบียบ และวินัยจราจร ในกลุ่มขบวนมอเตอร์ไซค์นั้น ยังมีพวกวินที่พาผู้โดยสารเสี่ยงตายโดยไม่มีหมวกกันน็อก และเตรียมฝ่าไฟแดง โดยไม่เกรงใจจ่าเฉย ไม่มี CSR กันเลย

ระหว่างทางกลับบ้าน ผมต้องผ่านเส้นพระรามสอง ที่อันตรายดั่งสมรภูมิรบ จึงต้องบอกให้ Taxi คอยเหลือบดูด้านบนด้วย ว่าจะมีอะไรหล่นลงมาจากสวรรค์หรือไม่ ส่วนผมก็นั่งพนมมือสวดมนต์ไปตลอดทาง พอใกล้ถึงบ้าน Taxi มาชะลอใกล้ทางรถไฟ ผมเตือนคนขับว่าดูให้ดีก่อนนะว่าไม่เห็นรถไฟวิ่งมา ดูระยะให้ปลอดภัย แล้วจึงค่อยข้ามไป

ใกล้ถึงบ้าน ผมเห็นควันไฟลุกโชน จึงถามยามหมู่บ้านว่าเกิดอะไรขึ้น ยามบอกว่าชาวบ้านเผาหญ้าเตรียมทำแปลงเกษตรก่อนฝนมา ผมแจ้งยามให้เตรียมพร้อม ไปเอาถังดับเพลิงมา คิดอีกที ไม่เคยเห็นยามซ้อมดับเพลิงเลย และก็ยังไม่แน่ใจว่าถังดับเพลิงเคยมีการบำรุงรักษาบ้างหรือไม่ นี่อาจจะเป็นระเบิดสังหารที่ทรงพลังก็เป็นได้

นี่แค่จากสนามบินถึงบ้าน ยังมีความวิตกจริตมากขนาดนี้ แล้วในการดำเนินชีวิตจริงในทุกๆ วัน เรามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด เราเคยรู้หรือไม่ว่าองค์กรที่เราใช้สินค้าและบริการของเขา มีมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหน

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า CSR (ความรับผิดชอบต่อสังคม) คือการบริจาคเงิน หรือไปทำกิจกรรมจิตอาสาต่างๆ เช่น ปลูกป่า เก็บขยะ หรือ เลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ ที่ยากจน แต่ที่จริงแล้ว CSR ที่สำคัญกว่านั้น คือความรับผิดชอบในขบวนการธุรกิจ ตั้งแต่ขบวนการผลิต ตลอดห่วงโซ่ของสินค้า และบริการนั้นๆ องค์กรที่มีมาตรฐานสูง จะมี CSR อยู่ใน DNA และปัจจุบันมีมาตรฐานที่ต้องปฏิบัติตามมากมาย อาทิ ISO 26000, UN Global Compact, OECD Guideline และ ESG

พอเห็นคำศัพท์ที่ยากแบบนี้ หลายคนคงไม่เข้าใจ แต่ที่จริงแล้ว CSR มีหลักง่ายๆ 3 ประการ

  1. ลดผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจ เหตุการณ์ความเสี่ยง และภัยพิบัติข้างต้น จะป้องกัน หรือลดความเสียหายได้ด้วยข้อนี้ ที่องค์กรต้องให้ความสำคัญ มีแนวทางปฏิบัติที่มีมาตรฐานความรับผิดชอบสูง
  2. สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคม ด้านนี้เกี่ยวกับงานบริจาค งานจิตอาสา และการพัฒนาสินค้าและบริการที่ดีมีคุณภาพ และช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดีขึ้น
  3. นวัตกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม ด้านนี้เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้า และบริการใหม่ๆ ให้เป็นมิตรต่อโลก สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG

องค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูง จะมีความเสี่ยงในสินค้าและบริการต่ำ เมื่อเกิดเหตุผิดพลาดจะสามารถควบคุมความเสียหายได้อย่างทันการ และมีแนวทางปฏิบัติ เยียวยา เหยื่อที่ได้รับผลกระทบอย่างเหมาะสม เราจะไม่เห็นการแถลงข่าวปัดความรับผิดชอบ หรืออ้างฟ้า อ้างดินต่างๆ และแนะนำให้เหยื่อไปแจ้งความเอาเอง หรือรอให้กฎหมายเป็นผู้ตัดสิน

แล้วมาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคมมีกี่ระดับ

  1. ความรับผิดชอบตามกฎหมาย อันนี้ถือว่าต่ำสุด แต่หลายองค์กรก็ยังทำไม่ได้ หรือหาข้ออ้างที่จะหลีกเลี่ยง
  2. ความรับผิดชอบตามมาตรฐานธุรกิจนั้นๆ แต่ละอุตสาหกรรมจะมีมาตรฐานที่เกี่ยวข้องมากมาย ที่ต้องรับรอง
  3. ความรับผิดชอบตามมาตรฐานขององค์กรนั้นๆ องค์กรชั้นนำจะมีมาตรฐานสูงกว่ามาตรฐานอุตสาหกรรม และมาตรฐานตามกฎหมาย เช่นบริษัท ที่อยู่ใน ESG 100 คือ 100 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมสูงสุด ในกลุ่มนี้บริษัทที่อยู่ใน DJSI ก็จะมีมาตรฐานความรับผิดชอบที่สูงในระดับโลกอีกด้วย

ผมเดินทางด้วยความระทึกขวัญมาตลอดทาง พอถึงบ้านรู้สึกอุ่นใจขึ้นมาอีกครั้ง รอดแล้วแต่หมดแรง ผมหย่อนตัวลงบนโซฟา เปิดทีวี เลื่อนไปแต่ละช่อง ล้วนมีแต่ข่าวร้ายที่เกิดจากความไม่รับผิดชอบต่อสังคมในทุกวงการ มาหยุดที่ข่าว CFO ของบริษัทดาวรุ่งในตลาดหลักทรัพย์ ให้สัมภาษณ์แฉการแต่งบัญชีอย่างพิสดารอลังการ และมีบริษัทผู้ตรวจสอบที่มีมาตรฐาน ESG ระดับโลกให้การรับรอง และไม่เห็นสิ่งผิดปกติใดๆ แถมมีองค์กรที่กำกับดูแล ESG ที่คอยควบคุมมาตรฐานความโปร่งใส ออกมาแถลงการณ์ร่วมกันโดยไม่มีข้อสรุปที่น่าเชื่อถือ ตอนท้ายของรายการ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังให้ข้อมูลอีกว่า ผู้ต้องสงสัยได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้วก่อนหมายจับจะออก ซึ่งมักจะเป็นแบบนี้ทุกที

ดึกแล้วถึงเวลาเข้านอน ผมเหลือบดูนาฬิกา Richard Mille ที่เพิ่งประมูลมา ก็เริ่มไม่แน่ใจแล้วว่าหน่วยงานชื้อดังของรัฐที่น่าเชื่อถือเขามี CSR จริงหรือเปล่า การรับผิดชอบด้วยการยกมือไหว้รับผิดแล้วขอคืนของคืนเงิน จะเพียงพอหรือไม่ ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมกันอย่างจริงจัง แล้วยังไม่สนใจมาตรฐาน CSR แค่ทำไปตามกระแส ชีวิตประจำวันของเราคงจะอันตรายไม่ต่างอะไรกับการอยู่ท่ามกลางสนามรบ การซื้อของก็คงจะโดนหลอกลวง และการลงทุนของเราคงจะมีความเสี่ยงไม่ต่างอะไรจากการไปเข้าบ่อนใต้ดิน … และนี่คือผลของการที่เราละเลย CSR.