เมื่อวันที่ 14 ก.ค. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. กล่าวถึงกระแสข่าวที่สมาชิกวุฒิสภาจะนำข้อบังคับที่ 41 ในการประชุมรัฐสภามาใช้ การลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ที่จะเสนอญัตติเดิม ไม่สามารถทำได้ของการประชุมรัฐสภา ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 19 ก.ค. ว่า แนวทางดังกล่าว เป็นเรื่องที่ตรงไปตรงมา ซึ่งกำหนดไว้ว่าการเสนอญัตติ เมื่อมีการเสนอและตกไปแล้ว จะไม่ให้เสนอซ้ำในสมัยประชุมนี้ เว้นแต่ว่าได้รับอนุญาตจากประธานรัฐสภาว่ามีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลง อาทิ ญัตติที่ผ่านมาคือเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียว แต่หากมีการเสนอเหมือนเดิมกลับเข้ามาอีกครั้ง ไม่สามารถทำได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเสนอนายพิธา พร้อมกับเสนอคนอื่น สามารถทำได้หรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า มีโอกาสเป็นไปได้ หากประธานรัฐสภาอนุญาต เมื่อถามย้ำว่าแนวทางดังกล่าว มาจากนายเสรีเองหรือ ส.ว. คนอื่นร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย นายเสรี กล่าว เป็นการพูดคุยกันในกลุ่ม ส.ว.

เมื่อถามถึง เอกสารหลุดออกมาเพื่อให้ ส.ว. ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว หากประชุมรัฐสภาในครั้งที่ 2 ให้หยิบยกเรื่องข้อบังคับ 41 ขึ้นมาพิจารณาเหมือนมีใบสั่ง นายเสรี กล่าวว่า ไม่หรอก เป็นเพียงการหารือกันในกลุ่ม เพราะเวลาเสนอความเห็นแต่ละคนก็จะมีแนวทางของตัวเอง เป็นข้อเสนอที่ต้องพิจารณาร่วมกัน ไม่มีใครสั่งใครได้ เพราะเป็นมุมมองในข้อกฎหมาย ส่วนที่มีการส่งกันในไลน์ ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นกับเพื่อนสมาชิกได้ทราบ ไม่ได้เป็นเรื่องการสั่ง

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีข้อมูลหลุดมาจากไลน์ของ ส.ว. บ่อยครั้ง กังวลหรือไม่ว่าจะมีหนอนบ่อนไส้ นำข้อมูลมาให้พรรคก้าวไกล นายเสรี กล่าวว่า ไม่ห่วง เพราะคนหมู่มาก ย่อมมีความเห็นต่าง และคนเห็นต่างก็นำไปส่ง ช่วงหลังจึงมีการระมัดระวังมากขึ้น เพราะหากเสนอความเห็นอะไรไปแล้ว และไปกระทบการทำงาน ก็ไม่ควรที่จะเสนอกันเข้ามาในไลน์ ไม่ต้องห่วงว่าถ้าพรรคก้าวไกลจะทราบในเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เพราะคนเป็นร้อยคน ก็ต้องมีคนรู้จักกันบ้าง ซึ่งต้องมีอยู่แล้ว

เมื่อถามถึง ท่าทีของ ส.ว. หลังจากลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 13 ก.ค. นี้ จะดำเนินการอย่างไรต่อไป นายเสรี กล่าวว่า ต้องรอดูว่า ส.ส. จะเสนอชื่อใครเข้ามาเป็นนายกฯ ต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ ส.ว. จะต้องพิจารณาต่อไป.