เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ผู้สื่อข่าวรายงาน ผลการสำรวจและจัดเก็บข้อมูลโดยคณะทำงานศึกษาวิจัย เรื่องแนวทางแก้ไขปัญหาการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สิน ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พบว่าตั้งแต่ปี 2560 – ส.ค. 2564 อัตราการฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินมีแนวโน้มสูงขึ้น ภาพรวมเฉพาะช่วงเวลาดังกล่าวเกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 50 ราย มีผู้เสียชีวิต 60 คน ไม่เสียชีวิต 4 คน โดยแยกข้อมูลรายปีได้ดังนี้
ปี 2560 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 4 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 ราย ปี 2561 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 4 ราย มีผู้เสียชีวิต 4 คน ปี 2562 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 12 ราย มีผู้เสียชีวิต 14 ราย ไม่เสียชีวิต 3 คน ปี 2563 เกิดเหตุฆ่าตัวตาย 20 ราย มีผู้เสียชีวิต 26 ราย ไม่เสียชีวิต 1 ราย และปี 2564 เกิดเหตุฆ่าตัวตายแล้ว 10 ราย มีผู้เสียชีวิต 12 ราย
พื้นที่พบการฆ่าตัวตายมากสุดคือภาคกลาง ร้อยละ 28 ตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 24 ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และกทม. ร้อยละ 14 ภาคตะวันตก ร้อยละ 4 พื้นที่ฆ่าตัวตายน้อยสุดคือภาคใต้ ร้อยละ 2
จากการวิเคราะห์ข้อมูลของคณะทำงานฯแยกตามอาชีพ พบกลุ่มอาชีพที่มีอัตราฆ่าตัวตายมากสุดคือ กลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำ ได้แก่ ค้าขาย ร้อยละ 36, รับจ้าง ร้อยละ 18 ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ประจำ ได้แก่ พนักงานทั่วไป ร้อยละ 20 นอกจากนี้เป็นกลุ่มอื่น ๆ เช่น ธุรกิจส่วนตัวและอาชีพอิสระ ร้อยละ 8, รับราชการ ร้อยละ 6 ส่วนเกษตรกร พบเป็นกลุ่มอาชีพที่มีอัตราส่วนการเสียชีวิตน้อยสุด เพียงร้อยละ 4
สำหรับช่วงวัยผู้เสียชีวิตทั้ง 60 คน ผู้ชายมักอยู่ในช่วงอายุ 51-60 ปี รองลงมาอายุ 31-40 ปี, 41-50 ปี, 20-30 ปี, 61 ปี ขึ้นไป และต่ำกว่า 20 ปี ส่วนผู้หญิงมากสุดอยู่ในช่วงอายุ 41-50 ปี รองลงมาอายุ 20-30 ปี, 31-40 ปี, 51-60 ปี, 61 ปีขึ้นไป และต่ำกว่า 20 ปี โดยจะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ไม่มีรายได้ประจำและกลุ่มพนักงานที่มีรายได้น้อยจะมีอัตราฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ สอดคล้องกับช่วงอายุแต่ละเพศที่อยู่ในวัยทำงานต้องรับผิดชอบครอบครัว ขณะที่ช่วงอายุต่ำกว่า 20 ปี มักเป็นกรณีถูกกระทำให้เสียชีวิตพร้อมครอบครัว
อย่างไรก็ตาม จากการวิจัยพบปัญหาหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้นอกระบบ และบางรายเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ สาเหตุการเป็นหนี้มาจากหลายปัจจัย โดยหลักมักมาจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากสุด คิดเป็นร้อยละ 31 รองมาคือหนี้จากการลงทุนค้าขาย ร้อยละ 21, หนี้จากพนันออนไลน์ ร้อยละ 8, การลงทุนในธุรกิจ ร้อยละ 7, หนี้จากการค้ำประกันนอกระบบให้คนอื่น ร้อยละ 6 และอื่น ๆ เช่น ค่างวดรถ
แนวโน้มรูปแบบการฆ่าตัวตายช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การผูกคอพบอัตราเสียชีวิตมากสุด ส่วนวิธีรมควันพบมากขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ลักษณะความรุนแรงจากการฆ่าตัวตายหมู่แยกได้ 2 ประเภท คือสมัครใจฆ่าตัวตายด้วยกัน และเจตนาฆ่าตัวตายทั้งครอบครัวแต่คนใกล้ชิดไม่รู้ เป็นที่น่าสังเกตกรณีฆ่าตัวตายหมู่ผู้ลงมือมักเป็นผู้รับผิดชอบหรือหัวหน้าครอบครัวที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินจนไม่มีทางออกและลงมือกระทำการหวังปลดภาระ
อีกประเด็นน่าสนใจยังพบว่าทั้ง 50 รายที่เกิดเหตุ ไม่ได้ปรึกษาหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ช่วยเหลือเรื่องหนี้สินหรือด้านจิตวิทยา พร้อมกันนี้เสนอแนะรัฐหามาตรการเร่งด่วนเข้าไปจัดการเพราะหลังวิกฤติโรคระบาดผลกระทบที่ตามมาแน่นอนคือวิกฤติทางสังคม ยกตัวอย่าง การฆ่าตัวตายจากปัญหาหนี้สินที่เป็นเพียงส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่เหนือน้ำมาให้เห็น แต่ส่วนที่จมอยู่คือความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ภาวะตกงาน หนี้สินครัวเรือน การเข้าถึงแหล่งทุน การเอาเปรียบ อาชญากรรม และการบังคับใช้กฎหมายที่หากไม่วิเคราะห์ติดตามสถานการณ์เพื่อปรับกลยุทธ์การบริหาร ปัญหาเหล่านี้จะยิ่งฉายภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ