งานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้ศึกษาประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว และการใช้กลไกทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัว ที่น่าสนใจ

ผลการศึกษาของ Global Landscape of Climate Finance 2021 พบว่าการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ยังเป็นการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่สะอาด มากกว่าระดมทุนเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สำหรับไทย หากพิจารณาเฉพาะการดำเนินการ เพื่อการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าจำเป็นต้องใช้เงินทุนประมาณ 0.4-0.7% ของจีดีพีต่อปี หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลการระดมทุนผ่านการออกตราสารหนี้ยั่งยืนของไทย ส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่โครงการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่วนที่สนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเน้นไปที่โครงการบางประเภทเท่านั้น เช่น โครงการด้านการจัดการนํ้า การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

มองไปข้างหน้า ไทยอาจต้องเผชิญความท้าทายและความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในหลายมิติ ส่งผลให้การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความจำเป็นและมีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่ภาคการเงินจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างในส่วนนี้ โดยสนับสนุนโครงการด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น

อาจใช้เครื่องมือทางการเงินที่นิยมใช้ในต่างประเทศ เช่น สินเชื่อ ตราสารหนี้ หรือใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ ๆ เพราะหากไม่ดำเนินการอะไรเลย ภาคส่วนต่าง ๆ อาจได้รับผลกระทบและความเสียหายสูงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเนื่องจากการระดมทุน เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่สำหรับคนไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นนี้ในภาคการเงินไทยอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงินและหน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชนทั่วไปด้วย.