และได้จัดงานสัมมนา “Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน” เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนำหลักเกณฑ์นี้ไปใช้เป็นมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยาม และจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไทย

Thailand Taxonomy คือ มาตรฐานกลางที่ใช้อ้างอิงในการจำแนกและจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของไทยได้ตามสมัครใจ 1.มีวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับบริษัทของไทยและ ASEAN Taxonomy 2.สอดคล้องกับมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เช่น EU Taxonomy และ Climate Bonds Taxonomy 3.อ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และยึดมั่นเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050 ไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส ที่มีสมาชิกกว่า 197 ประเทศ รวมถึงไทย

การจัดกลุ่มกิจกรรมแบ่งเป็น 3 ระดับด้วยระบบสัญญาณไฟจราจร “สีเขียว” กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้น “สีเหลือง” กิจกรรมที่สามารถปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และอาจเข้าข่ายสีเขียวในอนาคต เช่น พลังงานไฟฟ้าจากชีวภาพ และ “สีแดง” กิจกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นต้องทยอยลดกิจกรรมเหล่านี้ลงอย่างต่อเนื่อง เช่น พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหิน

ตัวอย่างของประโยน์ที่นำ Thailand Taxonomy ไปใช้ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างสถาบันการเงิน เพื่อนำไปออกตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือตราสารหนี้สีเขียว และออกสินเชื่อเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือสินเชื่อสีเขียว ในส่วนบริษัทหรือองค์กร เปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้นักลงทุนมีข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และสามารถเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างบริษัทต่างๆ ได้ และด้านภาครัฐ เพื่อให้ออกนโยบายการจัดการปัญหาสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับ Taxonomy

โดยในงานสัมมนา Thailand Taxonomy กติกาใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน “รณดล นุ่มนนท์” รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า แม้ว่าในหลายประเทศจะมีการกำหนดนิยามความเขียวขึ้นมาแล้ว แต่บริบทของไทยก็ไม่ได้เหมือนกับต่างประเทศ ดังนั้น ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันจัดตั้งคณะทำงาน Thailand Taxonomy เพื่อผลักดันให้มี Thailand Taxonomy ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย โดยในระยะที่ 1 เน้นเรื่อง climate change mitigation ก่อน และภาคเศรษฐกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ได้แก่ ภาคพลังงานและภาคการขนส่ง จากนั้นทยอยทำในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตร

สำหรับประเทศไทย โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีสัดส่วนสำคัญ ยังอยู่ในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีแบบดั้งเดิมและพึ่งพาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล หรือ คิดเป็น 30% ของจีดีพี ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินทุนในการปรับรูปแบบการทำธุรกิจ และวางแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ทุกภาคส่วนในไทยจึงต้องเตรียมการและปรับตัวไปสู่ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้ทันการณ์ และไม่สะดุด ซึ่งภาคการเงินในฐานะตัวกลางจัดสรรเงินทุน จึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการปรับตัว โดยคำนึงถึง “timing” และ “speed” ไม่ให้ช้าเกินไปจนความเสี่ยงก่อให้เกิดความเสียหาย และไม่เร็วเกินไปจนตัดขาดธุรกิจที่ยังไม่พร้อม

สำหรับภาคการเงิน ธปท. คาดหวังว่าสถาบันการเงินจะนำ Thailand Taxonomy ไปใช้เป็นจุดยึดโยงเพื่อประเมินสถานะของตนเองและลูกค้า เพื่อให้ทราบว่าสถานะพอร์ตในภาพรวมของสถาบันการเงินมีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมแค่ไหน จะได้บริหารจัดการความเสี่ยงได้ และเพื่อให้ทราบว่า ลูกค้าของสถาบันการเงินจัดอยู่ในกลุ่มไหน ซึ่งการที่สถาบันการเงินทราบสถานะของทั้งตนเองและลูกค้านั้น จะทำให้สถาบันการเงินสามารถเริ่มต้นตั้งเป้า ปรับกลยุทธ์และการดำเนินงานภายใน วางแผนปรับตัว ออกแบบและนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน ที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นสีเขียวมากขึ้น ได้อย่างราบรื่นและทันการณ์