เนื้อหาการบรรยาย หลักสูตรประกาศนียบัตร ผู้บริหารระดับสูงด้านการสร้างคุณค่า นวัตกรรมสังคม และความรับผิดชอบสังคมอย่างยั่งยืน รุ่นที่ 1 (Kasetsart University Value Creation & Innovation for Professionals and Sustainability : KU VIPS 1) ในสัปดาห์ที่ 10 เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.66  มีความน่าสนใจอย่างยิ่ง ภายใต้หัวข้อ “นวัตกรรมสังคมเพื่อชุมชนยั่งยืน” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรมฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA มาร่วมแบ่งปันมุมมอง แนวคิดและประสบการณ์การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation)

ผู้เขียนขออนุญาตสรุปสาระสำคัญที่ได้จากการบรรยายหัวข้อดังกล่าว ดังนี้

1. ดร.อำพล ได้เริ่มต้นโดยชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่าง”สิ่งประดิษฐ์ “หรือ Invention กับคำว่า”นวัตกรรม” หรือ Innovation… ทั้งนี้ Innovation มีองค์ประกอบสำคัญสามด้าน ได้แก่ ต้องมีความรู้ในการสร้างนวัตกรรม ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อออกแบบนวัตกรรม และสิ่งที่สร้างออกมาใหม่นี้ต้องมีคุณค่า โดย”คุณค่า”วัดจากประโยชน์ของสิ่งใหม่ ช่วยแก้ปัญหาได้ และสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value added)ให้ทางเศรษฐกิจ

…กล่าวโดยสรุป เรามี Checklist Innovation จาก Knowledge, Creativity, Value

2. นวัตกรรมที่ ดร.อำพลแบ่งประเภทให้เห็นนั้น ประกอบด้วยสี่ด้าน กล่าวคือ นวัตกรรมที่เป็น Product ,Process, Service และ Business Model โดยนวัตกรรมที่เป็น Product สามารถสร้างออกมาเป็นรูปธรรม จับต้องได้…นวัตกรรมที่อยู่ในด้าน Process คือ การช่วยลดต้นทุนในกระบวนการผลิตและทำให้สะดวกมากขึ้น…นวัตกรรมด้านบริการ หรือ Service Innovation  ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ผู้ใช้งาน …และท้ายสุด นวัตกรรมทางโมเดลธุรกิจช่วยหารายได้ให้กับธุรกิจในรูปแบบใหม่ ๆ

3. ดร.อำพล ยกตัวอย่างว่านวัตกรรมนั้นเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ทั้งนวัตกรรมทางความคิด ปรับปรุงกรอบคิด Paradigm innovation ให้ดีขึ้น นวัตกรรมภาครัฐ นวัตกรรมเชิงพื้นที่ (Area based innovation) นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมทางสังคม (Social Innovation)

4. นวัตกรรมทางสังคมที่ ดร.อำพล เน้นนั้นเป็นการประยุกต์ใช้ความคิดใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกทางสังคม โดย ดร.อำพล เรียกว่า “ไตรกำไรสุทธิ” หรือ Treble P มาจาก People, Profit หรือ Prosperity และ Plannet หากเราเชื่อมโยงกับบทเรียนที่ผ่านมา ๆ เราพบว่าแนวคิดไตรกำไรสุทธินั้นสอดคล้องกับเรื่อง SDGs ซึ่งท้ายที่สุดเราเห็นถึงความเชื่อมโยงของการสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบสนองต่อ SDGs

5. สำหรับกระบวนการออกแบบ Social Innovation นั้น ดร.อำพล ยกตัวอย่างทั้งภายในประเทศที่ NIA ทำอยู่ เช่น โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม โดย Social Innovation Model ประกอบด้วย การสำรวจสภาพปัญหา ความต้องการ (Investigate) การระบุปัญหาสิ่งที่เน้น (Identify) และการหาแนวทาง(Solution) การสร้างนวัตกรรม

6.ขั้นตอนการสร้างนวัตกรรมประกอบด้วย ห้ากระบวนการสำคัญ ได้แก่ (ก) กำหนดกลุ่มพื้นที่เป้าหมาย (Select target area) (ข) ลงมือออกแบบนวัตกรรม (Call for innovation) (ค) อนุมัติเพื่อตัดสินใจนำนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ (Approve) (ง) ประยุกต์ใช้นวัตกรรมในพื้นที่จริง (Implementation) และ (จ) ติดตามประเมินผลเพื่อต่อยอดนวัตกรรมในอนาคต (Monitoring & Evaluation)

7. อย่างไรก็ดี การสร้างนวัตกรรมทางสังคมจะสำเร็จได้ด้วยดี มีปัจจัยที่ทำให้ประสบผลสำเร็จ (Key Success Factors) ได้แก่ กลไกขับเคลื่อนการนำนวัตกรรมไปใช้ เงินทุนที่สนับสนุนอย่างเพียงพอ เครือข่ายร่วมมือ เทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขับเคลื่อนนวัตกรรม รวมทั้งเตรียมทีมจัดการนวัตกรรม

8. ดร.อำพล ยกตัวอย่างนวัตกรรมที่ NIA สร้างขึ้น คือ Social Innovation Village นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของต่างประเทศ เช่น Grameen Bank ของบังกลาเทศ Barefoot College ของอินเดีย หรือ Transition Town ใน Totnes อังกฤษ

9. ทั้งนี้เมื่อนำมาประยุกต์กับ KU-VIPS Framework เราพบว่า I ในตัว VIPS คือ Innovation ซึ่งเป็น Innovation ที่มุ่งไปในด้าน Social Innovation เพื่อสร้างความยั่งยืน สอดคล้องกับ Nick Kettle (2018) เขียนไว้ในหนังสือของเขาว่าเป็น Sustainovation  (ผู้เขียนได้รีวิวหนังสือเล่มนี้ไว้ตามลิงก์ที่แนบมานี้ด้วย     https://thaipublica.org/2023/02/sutti-27_sustainovation-for-generation-alpha/ )

10. ผู้เขียนได้รับแรงบันดาลใจจากการบรรยายของ ดร.อำพล จึงได้ออกแบบ Template การสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมไว้สำหรับเป็น Tool ใน Framework ของ KU-VIPS รุ่นที่ 1 โดยขออนุญาตตั้งชื่อ Template นี้ว่า KU-VIPS Sustainovation Template

11. Template นี้ประกอบด้วย 8 ช่อง ได้แก่ ช่องที่ 1 ชื่อนวัตกรรมทางสังคม หรือชื่อ Sustainovation ช่องที่ 2 ความเชื่อมโยงของ Sustainovatiob กับ SDGs ช่องที่ 3 ที่มาและแรงบันดาลใจในการสร้างนวัตกรรม (Inspiration of Sustainovation) ช่องที่ 4 กลุ่มผู้ได้รับประโยชน์ ช่องที่ 5 พื้นที่ดำเนินโครงการต้นแบบการใช้นวัตกรรม (Prototype are) ช่องที่ 6  การนำผลงานนวัตกรรมไปต่อยอดใช้ประโยชน์ ช่องที่ 7 ผลลัพธ์และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการนำนวัตกรรมไปใช้ และช่องที่ 8 ภาพแสดงการสร้างนวัตกรรม

12. ผู้เขียนเห็นว่า KU-VIPS รุ่นที่ 1 ของเราสามารถส่งมอบสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้รุ่นถัดไปในสองมิติ กล่าวคือ มิตินามธรรมที่เสนอกรอบความคิด KU- VIPS ซึ่งนำไปขับเคลื่อนต่อยอดได้จริง และมิติที่เป็นรูปธรรมที่เรียกว่า Sustainovation Template

——————

Dr. Sutthi Suntharanurak และทีมวิชาการ KU-VIPS รุ่นที่ 1