เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ เดินทางไปที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ถนนบ้านกล้วย-ไทรน้อย หมู่ 9 ต.ไทรน้อย อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้าน กรณีกำแพงหมู่บ้านจัดสรรพังตั้งแต่ต้นปี 2564 จนถึงปี 2565 รวมทั้งหมด 6 หลัง ซึ่งบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เป็นบ้านเลขที่ 88/26-28-30-32-34-36 ซึ่งทุกหลังอยู่เรียงติดกัน หลังจากกำเเพงพัง สัตว์เลื้อยคลานจำพวก ตัวเงินตัวทอง งู ตะขาบ เข้าไปในบ้านนับครั้งไม่ถ้วน เกรงได้รับอันตราย
โดยพบว่าหมู่บ้านดังกล่าวมีทั้งหมด 71 หลังคาเรือน ราคาเริ่มต้นหลังละ 3 ล้านบาทขึ้นไป มีกำแพงพังอยู่ติดกับที่นาใช้ทำการเกษตรปลูกข้าว ขณะเดียวกันพบชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 20 คน รวมตัวถือป้ายเขียนข้อความขอความเป็นธรรม และเรียกร้องให้หน่วยงายที่เกี่ยวข้องเข้าช่วยเหลือ จากนั้นชาวบ้านได้นำฆ้อนไปทุบกำแพงที่พังเพื่อระบายความอัดอั้นตันใจ เนื่องจากไม่สามารถทนเห็นสภาพซากปรักหักพังของกำแพงได้อีกต่อไป
นายประภาส สิงห์สกล อายุ 55 ปี อาศัยอยู่เลขที่ 88/30 ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า กำเเพงบ้านพังมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขจากเจ้าของโครงการเลย พอนั่งมองจากในบ้านแล้วรู้สึกเครียด ซึ่งหลังบ้านมีทั้งตัวเงินตัวทอง งู และตะขาบ ที่เข้าไปในบ้านเต็มไปหมด เพราะไม่มีสิ่งที่ไปกั้นไม่ให้สัตว์พวกนี้เข้าไปได้ เมื่อก่อนมีกำแพงก็ยังมีความปลอดภัยในการอยู่อาศัย ก่อนหน้านี้ได้ทำการร้องเรียนมาปีแล้ว ไปร้องเรียนที่คณะกรรมาธิการ 2 ครั้ง ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอไทรน้อย ออกสื่อก็ออกมาแล้ว ทุกอย่างก็เงียบ อยากรู้ว่าติดปัญหาเรื่องอะไร ขอขอบคุณทนายรัชพล อยากให้เป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านด้วย
นายรัชพล ศิริสาคร ทนายความ กล่าวว่า เบื้องต้นคิดว่าถ้าการก่อสร้างมีมาตรฐานที่ดี กำแพงก็ไม่ควรจะถล่มพังลงมา ซึ่งจากการตรวจสอบเอกสารพบว่ามีวิศวกร ระบุมาแล้วว่าเสาเข็มมันสั้นไป ในมุมมองของตนคาดว่าอาจจะมีการก่อสร้างที่ผิดแบบ คือจากแบบที่ขอไปมีเสาเข็มที่ยาว แต่จากการตรวจสอบของวิศวกรพบว่าเสาเข็มสั้นไป อาจจะมีการก่อสร้างผิดแบบ คือขอก่อสร้างไปแบบหนึ่ง แต่ก่อสร้างใหม่อีกแบบหนึ่ง ซึ่งตรงนี้เข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย อยากจะให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความก่อน หลังจากนั้นจะทำการตรวจสอบเอกสารอย่างละเอียดอีกครั้ง เพราะเรื่องนี้อาจจะยาวหน่อย คงไม่ใช่แค่วันสองวันแล้วจบ เพราะว่าต้องหาสาเหตุหลายๆ อย่าง แล้วก็ต้องมีวิศวกรเข้ามาดูแลด้วย
ทนายรัชพล กล่าวต่อว่า ส่วนก่อนหน้านี้ที่ทางโครงการหมู่บ้านจัดสรรให้ไปฟ้องร้องกับชาวนานั้น มันเป็นไปไม่ได้ ซึ่งตามหลักของกฎหมายแล้ว คนที่รับผิดชอบต้องเป็นโครงการบ้านจัดสรร จะไปโบ้ยให้ไปฟ้องชาวนาโดยอ้างว่าชาวนาเป็นคนทำไม่ได้ เจ้าของโครงการที่ฟ้องมีหลักฐานหรือเปล่า ว่าชาวนาเป็นคนทำ เพราะจากเอกสารการตรวจสอบของวิศวกรแล้ว เขาบอกว่าเสาเข็มสั้น เพราะฉะนั้นมองแล้วเกิดจากการก่อสร้างมากกว่า ไม่ได้เกิดจากการที่ชาวนาเขาทำอะไรหรอก และเหตุผลที่ สองคือจากการสอบปากคำชาวนา เขาอยู่มาก่อนแล้ว และการสร้างหมู่บ้านเกิดขึ้นทีหลัง ก็แสดงว่าการก่อสร้างมันไม่น่าจะได้มาตรฐาน จึงเกิดการทรุดตัวของกำแพงพังอย่างที่เห็น
ทนายรัชพล กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องประกันของโครงการที่จะหมดอายุในปี 67 ต้องดูว่าเหตุเกิดเมื่อไรถ้าเหตุเกิดก่อนที่ประกันจะหมด ทางประกันก็ต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าเหตุเกิดหลังจากที่ประกันหมด ประกันก็ไม่ต้องรับผิดชอบ แต่กรณีนี้เหตุเกิดก่อนที่ประกันจะหมด เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะยืดเยื้อไปถึงไหน ก็ยังอยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของประกันอยู่ดี
ต่อมา น.ส.ภัทรพร พนิกรณ์ อายุ 37 ปี ประธานนิติบุคคลหมู่บ้าน พร้อมลูกบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน เดินทางเข้าเเจ้งความที่ สภ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี แต่ตำรวจไม่รับแจ้งความ โดยให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวเคยเข้าแจ้งความมาแล้ว 2 ครั้ง ทั้งหมดจึงเดินทางกลับบ้านด้วยความผิดหวัง.