นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้ร่วมกับ 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงศรีอยุธยา เตรียมวงเงินรวมกว่า 40,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ส.อ.ท. และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในซัพพลายเชนภาคอุตสาหกรรม ในรูปแบบสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ หรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้า มั่นใจจะสามารถช่วยเหลือสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการในซัพพลายเชนของภาคอุตสาหกรรมผ่านบริการด้านการเงินของทั้ง 3 ธนาคาร ได้มากกว่า 10,000 ราย
โดยอาศัยเครดิตของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตัวเองผ่านกลไกของธนาคาร ซึ่งมีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็งและธุรกิจยังดำเนินไปได้ด้วยดีแม้อยู่ในภาวะวิกฤต ทั้งการส่งออกและตลาดในประเทศ ได้แก่ บริษัทในกลุ่มสิทธิผล, บมจ. ซินเน็ค (ประเทศไทย), บมจ. อีโนเวรับเบอร์ (ประเทศไทย), กลุ่มบริษัท พี.เอฟ.พี., บจก. เอส.พี.เอส. โคออพเพอเรท, บมจ. พลังงานบริสุทธิ์, บจก. นิภาเทคโนโลยี, บมจ. ปัญจวัฒนาพลาสติก, บจก. เศรษฐ์ อินเตอร์เทรด
กลุ่มธุรกิจในกลุ่มยานยนต์, ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์, กลุ่มเฟอร์นิเจอร์, คลัสเตอร์ก่อสร้าง, กลุ่มสิ่งทอ, กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ตั้งเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์โดยเฉพาะเอสเอ็มอีให้มากที่สุด
นายปรีชา ส่งวัฒนา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) กล่าวว่าสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจ หรือสินเชื่อหมุนเวียนคู่ค้าเป็นรูปแบบที่เหมาะกับสถานการณ์วิกฤติในช่วงนี้ ที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก โดยเอกสารใบแจ้งหนี้ (Invoice) ที่เกิดจากการสั่งซื้อของผู้ค้ารายใหญ่แต่ละรายเป็นเครื่องการันตีแทนหลักทรัพย์ค้ำประกันที่แต่ละธนาคารเชื่อถือได้
“รูปแบบการให้สินเชื่อของทั้ง 3 ธนาคารก็แตกต่างกันไป อย่างเช่น ธุรกิจที่ผู้ซื้อมีการส่งออกก็สามารถใช้บริการจากธนาคารเพื่อการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ได้ หรือต้องการแพลตฟอร์มทางการเงินรูปแบบใหม่ โดยใช้แหล่งเงินทุนของผู้ค้ารายใหญ่เป็นหลัก ก็ใช้โปรแกรม Payzave ของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือต้องการซื้อขายใบแจ้งหนี้ในรูปแบบปกติก็สามารถใช้โปรแกรมของทางกรุงศรีได้เลย ผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ตามที่เหมาะสมของแต่ละธุรกิจ คาดว่าจะสามารถช่วยเหลือสมาชิกและเอสเอ็มอีในเครือข่ายให้มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ราย”
นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า PayZave เป็นแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เปิดให้คู่ค้าซัพพลายเชนสามารถดำเนินการรับ-จ่ายค่าสินค้าระหว่างกันทันทีโดยไม่ต้องรอเครดิตเทอม จากปกติมีระยะเวลา 45-60 วัน ช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า
ธนาคารไทยพาณิชย์จะเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบวงเงิน O/D กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น หรือผู้ซื้ออาจใช้สภาพคล่องของตนเองในการชำระเงินคู่ค้าได้ด้วย กลุ่มผู้ซื้อที่สมัครเข้าใช้แพลตฟอร์ม PayZave ในโครงการนี้ สามารถใช้บริการฟรีโดยไม่มีค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 6 เดือน
น.ส.ดวงกมล ลิมป์พวงทิพย์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ เอสเอ็มอี ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่าสินเชื่อวงเงินกู้เบิกเกินบัญชี (OD) ที่ให้วงเงินสอดคล้องกับปริมาณธุรกรรมการขายสินค้าจริง พร้อมอัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย OD ทั่วไป และไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันแต่อย่างใด อีกทั้งสามารถเบิกใช้สะดวกรวดเร็วแบบเรียลไทม์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ Krungsri Digital Supply Chain Financing Platform
น.ส.ดรัสวันต์ ชูวงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กล่าวว่าธนาคารสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของผู้ส่งออกผ่านบริการสินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร ในวงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด และไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพียงนำใบแจ้งหนี้มายื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษซึ่งอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของผู้ค้ารายใหญ่ผ่านระบบออนไลน์ ฟรี ค่าธรรมเนียม 12 เดือน และฟรีประกันการส่งออกที่คุ้มครองการส่งออกไปยังผู้ซื้อ 1 ราย วงเงินสูงสุด 300,000 บาท