ถือเป็นเทคโนโลยีที่ต้องจับตานับต่อจากนี้สำหรับ  “ควอนตัม เทคโนโลยี” ( Quantum Technology) ที่มีการคาดการณ์กันว่าจะเป็นเทคโนโลยี ที่จะมา “เปลี่ยนโลก” และทำให้เกิดการ “ดิสรัปชั่น” ของดิจิทัล เทคโนโลยี  

ส่งผลให้เกิดเปลี่ยนแปลงในหลายๆ อุตสาหกรรม รวมถึงอาจจะส่งผลกระทบในเรื่อง “ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้” ด้วย จึงถือเป็นเทคโนโลยีที่มีทั้งด้านบวกและลบ!?!

วันนี้จะพามาทำความรู้จักกับ “ควอนตัม”  จาก “ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัด   ที่เป็น “กูรู” เรื่องนี้  และเป็นนักเรียนทุนรัฐบาล ที่จบปริญญาเอกด้าน “ควอนตัม คอมพิวติ้ง” 

ดร.จิรวัฒน์ บอกว่า เราผ่านยุค “อนาล็อก”ในอดีต มาเข้าสู่ยุค “ดิจิทัล” ในปัจจุบัน และอนาคตกำลังจะเข้าสู่ยุค “ควอนตัม”  ซึ่งเป็นเทคโนโลยที่แตกต่างและเป็นคนละเทคโนโลยีกัน ซึ่ง “ควอนตัม”  เป็นสาขาหนึ่งในวิชาฟิสิกส์ ที่ได้ศึกษาสิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่า “อะตอม” ซึ่งเล็กมาก เปรียบเทียบ คือ การนำเอาเส้นผมมาผ่าตามแนวเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 รอบ ก็จะได้ขนาดของ “อะตอม” ซึ่งมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น!?!

ดร.จิรวัฒน์ (ซ้าย) พลอากาศตรี อมร (ขวา)

ซึ่งในโลกที่เล็กขนาดนั้นจะมีคุณสมบัติแปลกๆเต็มไปหมด ซึ่งอะตอม จะอยู่ได้หลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน ทั้งซ้าย-ขวา บน-ล่าง ซึ่ง “ควอนตัม คอมพิวติ้ง”   ก็เป็นการนำเอาคุณสมบัติแปลกๆ เหล่านี้ มาสร้างเป็น คอมพิวเตอร์ ซึ่ง นักฟิสิกส์ ก็ค้นพบว่า หากนำคอมพิวเตอร์ ที่มีคุณสมบัติของ “ควอนตัม” มาคำนวณงานบางอย่างได้เร็วกว่าเดิมมาก จากเดิมที่ใช้เวลาเป็น แสนปี หรือ พันปี  โดยใช้ซุบเปอร์ คอมพิวเตอร์ แต่หากใช้ “ควอนตัม คอมพิวเตอร์” จะใช้เวลาเหลือเพียงไม่กี่นาที หรือไม่กี่วันเท่านั้น!!

ตัวเทคโนโลยีจึงมีทั้งด้านบวกและลบ โดยด้านบวกทำให้มนุษย์มีหน่วยประมวลผลที่เร็วมากๆ วิเคราะห์ข้อมูลที่ซับซ้อนได้ โดยมีการนำไปในในวงการ การเงิน หรือ ไฟแนนซ์ ในการประมวลผล ให้มีผลตอบแทนสูงสุด มีความเสี่ยงน้อยสุด หรือใช้เพื่อการบริหารจัดการหนี้เสีย

หรือในภาคขนส่ง หรือ โลจิกติกส์ ที่ใช้การคำนวณเส้นทางการจัดส่ง ให้มีต้นทุนต่ำลง ใช้น้ำมันน้อยลง ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง ฯลฯ รวมถึงภาคอุตสาหกรรมที่ใช้ออกแบบโครงสร้างวัสดุที่ดีขึ้น นำไปรีไซเคิลได้ดีขึ้น

ในขณะที่ด้านลบ ด้วยศักยภาพการคำนวณที่ดีขึ้น ก็มีโอกาสที่จะมีแฮกเกอร์นำมาใช้เข้ารหัสลับในยุคดิจิทัลได้ ซึ่งหากใช้ ดิจิทัลคอมพิวเตอร์ การใช้เวลาเป็นพันปีถึงจะสามารถ แฮกรหัสได้ แต่ ควอนตัม คอมพิวเตอร์ สามารถพิสูจน์ ทางคณิตศาสตร์ได้เลยว่า หากสร้างสำเร็จ 100% จะใช้เวลาไม่กี่นาที ก็สามารถแฮกรหัสได้แล้ว ซึ่งรวมถึงเรื่องบล็อกเชน ที่หลายคนว่าปลอดภัย ซึ่งหากเทคโนโลยีเปลี่ยนก็อาจไม่ปลอดภัยอีกต่อไป!!

ภาพ pixabay.com

“วันนี้เรายังไม่ได้เข้าสู่ยุค ควอนตัม 100% แต่ “ควอนตัม คอมพิวเตอร์” มีอยู่จริง คนที่สร้างและคิดได้รับรางวัลโนเบิลไปแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ 100% แค่ประมาณ 50-60% เท่านั้นในปัจจุบัน ซึ่งยังมีเวลาให้เราเตรียมตัวโดยเฉพาะในเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่จะมีมาตรการการป้องกันอย่างไร หรือ มีการใช้งานอย่างไรเพื่อให้ไทยได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ”

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้อย่าง พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.)บอกว่า แม้ปัจจุบันจะยังไม่สมบูรณ์ 100% แต่ทุกคนสามารถ เข้าถึง และใช้งานได้ เพราะปัจจุบันมีหลายบริษัทกำลังสร้าง อาทิ ไอบีเอ็ม  ฟูจิสึ  กูเกิล และ ไมโครซอฟท์ ฯลฯ เริ่มมีคนมาใช้ประโยชน์ ไม่จำเป็นต้องสร้าง เพียงแค่เขียนโปรแกรม หรือหาองค์ความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ พัฒนาคนให้เข้าใจ ซึ่งปัจจุบันมีคนไทยที่จบด้านควอนตัน ประมาณ 100 คนเท่านั้น

ปัจจุบัน Cloud Security Alliance (CSA) ได้ออกมาระบุว่า ในอีก 7 ปี ยุคของคอมพิวเตอร์ จะเปลี่ยนผ่าน จากระบบดิจิทัลสู่ระบบ ควอนตัม คอมพิวติ้ง หรือยุค Y2Q  หรือเรียกว่า นาฬิกา Y2Q ที่นับเวลาถอยหลัง ลักษณะคล้ายยุค Y2K  ที่มีการเปลี่ยนยุคของคอมพิวเตอร์ เมื่อปี 2000  ซึ่งในยุคของ ควอนตัม คอมพิวติ้ง การเข้ารหัส ด้วยพาสเวิร์ด ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป หน่วยงานต่างๆต้องเริ่มให้ความสำคัญกับข้อมูล ต้องแยกให้ได้ว่าข้อมูลไหนเป็นความลับ ต้องแยกเก็บและมีความปลอดภัยรับมือกับแฮกเกอร์ในยุคควอนตัมด้วย!!

ภทพ pixabay.com

“อีก 6-7 ปี มองว่าไม่นาน ทำให้หน่วยงานที่มีความสำคัญในการเก็บข้อมูลความลับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร กระทรวงต่างประเทศ กระทรวงที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคง ตรวจคนเข้าเมือง และโรงพยาบาล เป็นต้น  จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนซอฟต์แวร์ ที่รองรับการปกป้องภัยไซเบอร์จากการใช้ ควอนตัม คอมพิวติ้ง โดยมาตรฐานดังกล่าว จะมีการประกาศในปี 2567 ซึ่งจะเป็นรูปแบบการเข้ารหัสที่ป้องกัน ควอนตัม คอมพิวเตอร์ ได้ ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ควรจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อพิจารณาว่าจะต้องมีอะไรที่ต้องปรับเปลี่ยนบ้าง ต้องใช้งบประมาณอย่างไรกับเรื่องดังกล่าว ต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่วันนี้”  พลอากาศตรี อมร กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดร.จิรวัฒน์ บอกอีกว่า ปัจจุบันในต่างประเทศ รวมถึงในไทยเริ่มมีองค์กรใหญ่ๆได้ นำประโยชน์ ของ ควอนตัม มาใช้งานแล้ว โดยในไทย เช่น ภาคการเงินนำมาจัดการหนี้เสียด้วยการเลือกฟ้องร้องลูกหนี้ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ไม่ให้ล้มทั้งระบบ

รวมถึงบริษัทปูนรายใหญ่ ที่ใช้ระบบควอนตัมในการวางแผนการขนส่ง คำนวณเส้นทางเดินรถที่เร็วที่สุด ประหยัดเวลาในการเดินทาง ลดใช้น้ำมัน ใช้รถขนส่งน้อยลง ทำให้งบประมาณในการขนส่งลดลงด้วย  รวมถึงนำมาใช้ กับ สมาร์ทกริด (Smart Grid) เพื่อให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้าได้ตั้งแต่การผลิต การส่งไฟฟ้า ไปจนถึงการใช้งานของผู้บริโภค ด้วยโซลูชันในการจ่ายไฟ สำรองไฟ ต้องมีการคำนวณให้แม่นยำ เพื่อให้มีไฟฟ้าเพียงพอต่อการใช้งาน!!

“ควอนตัม เทคโนโลยี” กำลังจะมาในอีกไม่กี่ปี จึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องตื่นตัวเริ่มศึกษาอย่างจริงจังเพื่อใช้ให้ เกิดประโยชน์ รวมถึงจะป้องกันผลกระทบทางลบ ก่อนจะสายเกินไป!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์