ต่อมา “ลำดับความสามารถในการแข่งขัน” ซึ่งประกาศโดย IMD ที่ปีนี้ ไทยได้อันดับที่ 30 จาก 64 ประเทศ ซึ่งดีขี้นจากปีที่ผ่านมา 3 อันดับ และล่าสุด “รายงานความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งประเทศไทยได้ 74.7 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.6 คะแนน โดยเป็นอันดับที่ 43 จาก 166 ประเทศทั่วโลก ที่เพิ่มขึ้นมา 1 อันดับ ที่สำคัญไทยสามารถขึ้นมาเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย โดยแซงเวียดนาม (73.3) สิงคโปร์ (71.8) อินโดนิเซีย (70.2) และมาเลเซีย (69.8) ซึ่งต้องให้ credit กับรัฐบาลไทย ที่เอาจริงเอาจังกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนมาตลอด โดยใช้คำขวัญ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ที่เป็นคำที่ผู้นำมักจะพูดติดปาก และมีสภาพัฒน์กำหนดยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดการขับเคลื่อนในมิติต่าง ๆ ทั้ง 17 ข้อ ผ่านมีกลไกหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ ที่ปฏิบัติการด้วยแผนและงบประมาณประจำปี

อย่างไรก็ดี แต่ที่ไทยมีความโดดเด่นในเวทีโลกคือกลไกภาคเอกชน ทั้งเครือข่ายบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ สภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคารไทย และเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ที่ช่วยขับเคลื่อนกันอย่างจริงจัง ที่สำคัญมีการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษในเวทีโลก รวมถึงการที่เรามี Sustainable Report ขององค์กรต่าง ๆ มากที่สุดในเอเชีย อีกทั้งยังมีภาคประชาสังคมกับองค์กรชุมชน ที่ลงมือทำโครงการต้นแบบในชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ตลอดจนได้นักวิชาการของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ได้นำความรู้ที่หลากหลายมาสร้างความยั่งยืน ทั้งงานวิจัยและการใช้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ (Community Living Lab) นอกจากนี้ สื่อมวลชนไทยยังหันมาสนใจทำข่าวเรื่องความยั่งยืนกันมากขึ้น เรียกได้ว่า ปัจจุบันสื่อใดไม่ทำเรื่องความยั่งยืน ก็ต้องถือว่าตกกระแส ล้าสมัย และไม่ทันโลก อย่างเช่น “เดลินิวส์ Sustainable Sunday” ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการสร้างพื้นที่การสื่อสารเรื่องความยั่งยืนที่มีคุณภาพได้อย่างมีพลังและช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลง จนทำให้ให้ผู้อ่านทั่วประเทศ เฝ้าติดตามทั้งในหนังสือพิมพ์และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ

ทั้งนี้ ในระหว่างที่กำลังดีใจในผลของ ลำดับความคืบหน้าของเป้าหมายความยั่งยืน ที่ไทยเรานำเป็นที่ 1 ของเอเชีย และเป็นที่ 43 ของโลก แต่ทว่าพอดูผลการจัดลำดับเรื่องอื่น ๆ กลับยังน่าเป็นห่วง ซึ่งผมว่าเราจำเป็นที่จะต้องรีบแก้ไข ปรับปรุง โดยให้สามารถแก้ปัญหาใหญ่ ๆ เพียงไม่กี่เรื่องได้ ประเทศไทยก็น่าจะติดอันดับ Top 10 ของโลกได้ไม่ยาก ซึ่งปัญหาใหญ่ ๆ ที่ไทยจะต้องเร่งแก้หรือปรับปรุง มีอาทิ เรื่องแรก “ลำดับของการทุจริตทคอร์รัปชั่น” ที่เราเคยอยู่อันดับที่ 70-80 เมื่อ 8 ปีที่แล้ว จนเราเคยมีความหวังที่จะปราบคอร์รัปชั่นในวงราชการ และมีเป้าหมายที่ก้าวจะไปอยู่ใน Top 50 ให้ได้ แต่ความเป็นจริงความคดโกงสีเทาต่าง ๆ ถูกซุกอยู่ใต้พรมมาตลอด และรอวันที่จะมีคนจริงคนกล้ามาเปิดและปัดกวาดให้สะอาดเรียบร้อย แถมองค์กรอิสระต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับขบวนการยุติธรรมก็ถูกแทรกแซงจนบิดเบี้ยว ขาดความน่าเชื่อถือ ส่งผลให้คะแนน SDG 16 ของเราเป็นสีแดงมาตลอด และเป็นรากฐานต้นเหตุของความไม่ยั่งยืนในข้ออื่น ๆ ตามมา ซึ่งถ้าเราตั้งใจจริงช่วยกันแก้ไข SDG 16 นี้ ให้ตัวแดงเปลี่ยนเป็นเหลืองและเขียว ประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างไทย ก็คงจะมี score ติด Top 10 ได้ไม่ยาก

และเมื่อเปรียบเทียบคะแนน “ความสามารถในการแข่งขันของ IMD” เราจะเห็นข้อที่เป็นปัญหาคล้ายกันหลายข้อ อาทิ SDG 3 สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี ที่ไทยยังอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานมาก ซึ่งเป็นเพราะการลงทุนเรื่องนี้ยังต่ำเกินไป หรืออาจมีสาเหตุจากการจัดการงบประมาณแบบขาดประสิทธิภาพ หรือการทุจริตคอร์รัปชั่นในวงการสาธารณสุข และที่สำคัญคือ Mindset และพฤติกรรมเรื่องสุขภาวะของประชาชน, SDG 14 และ 15 ทรัพยากรทางน้ำ ใต้ทะเล และระบบนิเวศบนบก ซึ่งทั้งข้อ 14 และ 15 นั้น ไทยมีศักยภาพสูง แต่เรายังไม่จริงจังในการอนุรักษ์และพัฒนา จึงยังไม่สามารถสร้างความสมดุลด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ซึ่งเรามักจะเห็นกรณีอนุรักษ์สุดโต่ง หรือไม่ก็ทุนนิยมแบบทำลายล้าง ที่มีผลต่อ 2 ข้อนี้แบบไม่ยั่งยืน, SDG 2 ความหิวโหย ที่จริงเรามีศักยภาพในการสร้างความมั่นคงทางอาหารมาก เพราะมีพื้นที่ทำการเกษตรมากมาย และเรามีหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แต่ศักยภาพที่เรามียังไม่สามารถเปลี่ยนสีแดง เป็นเหลือง และเขียวได้, SDG 4 คุณภาพการศึกษา ที่ถ้ามองในมุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยถือว่าดีแล้ว เพราะเป็นตัวสีเขียว แต่ถ้าดูคะแนนของ IMD ด้านคุณภาพการศึกษานั้น พบว่าความสามารถในการแข่งขันของเรา ยังมีคะแนนที่ต่ำมาก แถมคะแนนยังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่เราต้องมาสนใจ SDG 4 นั้น เพราะเรามีคะแนน SDG ข้อนี้ดีแล้ว แต่ผมคิดว่าเราสามารถทำได้ดีกว่านี้ อีกทั้งการศึกษาที่ดี คือหัวใจสำคัญของการพัฒนาทุนมนุษย์ เพื่อให้คนไปสร้างชาติให้ยั่งยืน

อนึ่ง สำหรับผม ถ้าประเทศไทยลงทุนอย่างจริงจังกับ 3 เรื่อง ได้แก่ SDG 3 สุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี SDG 4 คุณภาพการศึกษา และ SDG 16 ความสงบ ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะข้อสุดท้ายนั้น เป็นสิ่งที่ไทยควรเริ่มต้นมาก ด้วยการปราบปรามการคดโกงคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าทำได้ ไทยจะติดอันดับ Top 10 ของโลกในหลายเรื่องได้ไม่ยาก และนี่เป็น “ลายแทงสำคัญ” ที่ใช้เป็นแผนที่เดินทางครึ่งหลังสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผมเชื่อว่า…ไทยทำได้.