จากกรณีที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับกรณีการตรวจพบความผิดปกติของงบการเงินของ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (STARK) เป็นคดีพิเศษ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยการสืบสวนเบื้องต้นมีมูลเชื่อว่ามีการกระทำผิดของกรรมการ หรือ ผู้บริหาร หรือบุคคลอื่นใด เกิดขึ้น ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพฤติการณ์มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในตลาดทุนและระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 28 มิ.ย. ผู้สื่อข่าว “เดลินิวส์” ได้รับการเปิดเผยจาก พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า ภายหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ได้ร่วมกันประชุมหารือกำหนดแนวทางการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในกรณีการโกงหุ้น STARK นั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ตนได้สั่งการให้คณะพนักงานสอบสวนดำเนินการยึดอายัดทรัพย์สินมูลค่ากว่า 100 ล้านบาทเรียบร้อยแล้ว และจะเร่งพยายามติดตามทรัพย์สินที่เหลืออีกจำนวนมาก ส่วนมูลค่าความเสียหายในครั้งนี้ เบื้องต้นเป็นจำนวนตัวเลข 35,000-50,000 ล้านบาท และคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทะยานไปสู่ 100,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะพนักงานสอบสวนได้มีการเชิญพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายรายเข้าให้ปากคำในฐานะพยานบ้างแล้ว อาทิ กรรมการและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งกรรมการชุดเก่าและชุดใหม่ใน 4 บริษัทสำคัญ ได้แก่ บริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล(ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท อดิสรสงขลา จำกัด, บริษัท ไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ บริษัท เอเชีย แปซิฟิก ดริลลิ่ง เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เนื่องจากเบื้องต้นเราพบว่าบุคคลเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำบัญชี และมีส่วนเกี่ยวข้องในบทบาทของการตัดสินใจ การเซ็นอนุมัติต่างๆ แต่ว่า บุคคลเหล่านี้จะรู้เห็นในการกระทำความผิดด้วยหรือไม่นั้น เราจะต้องมีการสอบปากคำให้ครบถ้วนในทุกประเด็น และดูพยานหลักฐานเอกสารประกอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของคำให้การว่า เจ้าตัวจะมีการระบุว่าเข้าไปเกี่ยวข้องในขั้นตอนไหนอย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ พ.ต.ต.สุริยา ระบุอีกว่า เราได้เร่งรัดขอเอกสารเพิ่มเติมจาก STARK และผู้ที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ เพื่อใช้พิจารณาในส่วนของพยานหลักฐานขนานไปกับคำให้การต่างๆ ส่วนของพยานหลักฐาน เช่น เรื่องเส้นทางการเงินเอกสารการจัดซื้อสินค้าว่ามีหลักฐานครบถ้วนสมบูรณ์ระดับไหน ซึ่งหากได้ข้อมูลครบถ้วนแล้ว จากนั้นเราจะพิจารณาว่าผู้ที่กระทำผิดมีใครเกี่ยวข้องบ้าง หรือเกี่ยวข้องในระดับใด เพื่อออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป

พ.ต.ต.สุริยา ระบุด้วยว่า สำหรับคดีนี้มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก ดีเอสไอจึงต้องมีการเร่งทยอยเรียกบุคคลต่างๆ เข้ามาให้การในฐานะพยาน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมคำให้การและเอกสารพยานหลักฐาน ส่วนระดับผู้บริหารของ 4 บริษัทสำคัญ เราก็จะมีการทยอยเรียกเข้าให้การในฐานะพยานเช่นเดียวกัน

เมื่อถามถึงนายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าได้มีการประสานหรือออกหมายเรียกเพื่อเข้าให้การในฐานะพยานหรือไม่นั้น พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า เบื้องต้นเราได้มีการประสานไปยังเจ้าตัวเรียบร้อยแล้ว แต่คาดว่าหากนายชนินทร์เข้าให้การ คงจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ตนได้เร่งให้คณะพนักงานสอบสวนทำเรื่องราวให้ชัดเจน โดยภายในสองสัปดาห์หลังจากนี้ คือ สัปดาห์หน้าและในช่วงสัปดาห์ถัดไป ดังนั้น ความชัดเจนต่างๆ จะปรากฏในห้วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรายชื่อผู้กระทำความผิด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิด หรือใครบ้างเข้าข่าย

อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยังระบุด้วยว่า เราจะมีการเรียกบริษัทที่ตรวจสอบความผิดปกติของบัญชี (Special Audit) เข้ามาให้การในฐานะพยานเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ไพร้ชวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (PwC) และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ (Deloitte) เพราะบริษัทเหล่านี้ได้พบเห็นการทุจริตและมีข้อเท็จจริงบางส่วน เราจึงต้องเรียกมาสอบถามถึงพฤติการณ์ต่างๆ เพื่อหาตัวผู้กระทำความผิดตัวจริงให้ได้ เพราะตนไม่อยากให้ใครหลุดรอดไป จำเป็นต้องฟังข้อเท็จจริงให้รอบด้าน อีกทั้งในกรณีที่มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลจำนวน 3 รายก่อนหน้านี้ (อดีตประธานกรรมการบริษัท และลูกน้องของประธานกรรมการ) ผู้เสียหายก็ได้มอบพยานหลักฐานรวมถึงพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ที่ถูกกล่าวหาไว้ให้กับทางดีเอสไอเรียบร้อยแล้ว แต่เราต้องขอสงวนการเปิดเผยในส่วนของรายละเอียดไว้ก่อน

“ดีเอสไอได้เปิดสายด่วน 1202 เพื่อให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีของหุ้น STARK ติดต่อแจ้งความเสียหายเข้ามา ซึ่งทางเราก็จะให้คำแนะนำกับผู้เสียหายว่าจะต้องเตรียมเอกสาร หรือต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป จากนั้นเราจึงจะได้ทราบว่า มีจำนวนผู้เสียหายจากกรณีนี้กี่รายและรายละเอียดเพิ่มเติม” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุ

ทั้งนี้ พ.ต.ต.สุริยา ระบุว่า เบื้องต้นดีเอสไอพบร่องรอยการทุจริตจริง ระหว่างนี้จึงต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานของทั้งพนักงานสอบสวนดีเอสไอเอง เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต. และพนักงานสอบสวน บก.ปอศ. พร้อมนำมาประกอบกับคำให้การก่อนพิจารณาตั้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำผิด และดีเอสไอจะดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป.