น.ส.อัญมณี ถิรสุถทธิ์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กิจกรรมการ Kick Off “ประกาศนโยบายขับเคลื่อนความเข้มแข็งของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรแบบบูรณาการ พุ่งเป้าสู่องค์กรสมรรถนะสูง และเติบโตอย่างยั่งยืน” เป็นกิจกรรมที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนยกระดับให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นด้านการเกษตร เชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 และแผนพัฒนาการสหกรณ์ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2566-2570) ที่มีเป้าหมายให้สหกรณ์มีความเข้มแข็งเพิ่มขึ้น กรมตรวจบัญชีสหกรณ์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงร่วมทบทวนเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งสหกรณ์ โดยมีเกณฑ์การประเมินความเข้มแข็งสหกรณ์ใน 4 มิติ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน นำไปสู่การปฏิบัติร่วมกัน ซึ่งในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ รับผิดชอบหลัก ใน 2 มิติ ประกอบด้วย

1. มิติที่ 1 ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ เป็นการประเมินความเข้มแข็งของสหกรณ์จากอัตราส่วน ทางการเงินของสหกรณ์ ในการดำเนินธุรกิจและการบริหารงานของสหกรณ์ โดยพิจารณาจาก 4 ด้าน ได้แก่ ความเข้มแข็งทางด้านเงินทุน ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ ประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ และสภาพคล่องทางการเงิน โดยมีอัตราส่วนทางการเงินที่นำมาใช้กำหนดเป็นตัวชี้วัดจำนวน 6 ตัวชี้วัด 2. มิติที่ 2 ประสิทธิภาพในการจัดการองค์กร เป็นการประเมินความเข้มแข็งจากชั้นคุณภาพการควบคุมภายในว่า สหกรณ์มีการควบคุมภายในที่ดีหรือไม่ ซึ่งเป็นมิติสำคัญในการสะท้อนความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนของสหกรณ์

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้กำหนดแนวนโยบายหลักในการปรับแนวคิดบูรณาการงานสหกรณ์สู่อนาคตการสหกรณ์อย่างยั่งยืน ใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1.สร้างเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร สามารถใช้ข้อมูลทางการเงินในการวางแผนบริหารจัดการ โดยส่งเสริมให้ผู้สอบบัญชีถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ แก่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้มีความเข้าใจข้อมูลทางการเงิน อัตราส่วนทางการเงิน และการแปรผลจากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะอัตราส่วนทางการเงินในมิติหลัก เพื่อหาแนวทางในการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร การยกระดับคุณค่าในรายงานผลการตรวจสอบบัญชี โดยผลักดันให้คณะกรรมการฯ นำผลการวิเคราะห์ไปใช้ดำเนินการปรับปรุงในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการบริการจัดการภายในสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร รวมไปถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแล ให้มีความรู้และความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการส่งเสริมและเฝ้าระวังเตือนภัยทางการเงินด้วย

2. การส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรมีระบบการควบคุมภายใน โดยสร้างการรับรู้เรื่องระบบ การควบคุมภายในที่ดีแก่คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการควบคุมภายในที่ดี รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันให้คณะกรรมการฯ ปรับปรุงแก้ไขวิธีดำเนินการปฏิบัติงาน เพื่อยกระดับชั้นคุณภาพการควบคุมภายใน มีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการ ฝ่ายจัดการ ผู้ตรวจสอบกิจการ ผู้ตรวจการสหกรณ์และผู้สอบบัญชี ร่วมกันแก้ไขปัญหา และผลักดันให้สหกรณ์มีการติดตามการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม

3. การส่งเสริมให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรใช้งานโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ โดยผลักดันให้สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรใช้งานโปรแกรมระบบบัญชีสหกรณ์ เพื่อประโยชน์ในการบันทึกบัญชีและการจัดทำงบการเงินที่สะดวก รวดเร็ว แทนการจัดทำบัญชีด้วยมือ เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน รวมถึงการต่อยอดการใช้งาน Application Smart4M ที่พัฒนาโดยกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยเฉพาะโปรแกรม Smart Member ที่สมาชิกสามารถตรวจสอบข้อมูลการทำธุรกรรมร่วมกับสหกรณ์ได้ทุกที่ ทุกเวลา และส่งเสริมให้นำข้อมูลทางการเงินและบัญชีมาใช้ในการบริหารงาน สามารถนำเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลมาใช้ เช่น โปรแกรมเฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร (CFSAWss) เพื่อช่วยเหลือผู้ใช้งานให้สามารถวิเคราะห์ เฝ้าระวังและเตือนภัยทางการเงินของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรได้อย่างครอบคลุม

“กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ นับเป็น 2 หน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาความเข้มแข็งแก่สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จากการบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ ผู้ปฏิบัติงานของทั้ง 2 กรม จึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดของเกณฑ์ประเมินความเข้มแข็งฯ ทั้ง 4 มิติ อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดความชัดเจน รู้ถึงบทบาทหน้าที่และเป้าหมายสู่ความสำเร็จ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกัน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนงานไปในทิศทางเดียวกัน รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้ในการปฏิบัติงานในส่วนต่าง ๆ ปรับปรุงข้อมูลในฐานข้อมูลสารสนเทศของทั้ง 2 หน่วยงานให้เป็นปัจจุบัน เพื่อประโยชน์ในการนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้ความเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป”