เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) บอร์ด กสทช. ได้มีการจัดประชุมบอร์ด กสทช. วาระปกติ โดยมีการพิจารณา เรื่อง การประชุมวาระลับเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ที่ผ่านมา มีการลงมติให้ปลด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช.  และ รักษาการเลขาธิการกสทช.ออกจากตำแหน่งรักษาการและแต่งตั้ง นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการกสทช.รักษาการแทน

โดยที่ประชุมในวันนั้น( 9 มิ.ย. ) บอร์ด กสทช. ได้ลงมติ ให้ปลดนายไตรรัตน์ ไปแล้วด้วยคะแนน 4:2 คือ  โดย 4 เสียงที่เห็นชอบ คือ พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ  กสทช.(ด้านกระจายเสียง),นางสาวพิรงรอง รามสูตร   กสทช. (ด้านโทรทัศน์),นายศุภัช ศุภชัลาศัย  กสทช. (ด้านเศรษฐศาสตร์)และนายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กสทช. (ด้านกิจการโทรคมนาคม)

ขณะที่  2 เสียงไม่เห็นชอบ  คือ  นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) และ  พลตำรวจเอกณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. (ด้านกฏหมาย) โดย นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.งดออกเสียง

นอกจากนั้นยังมีการลงมติ เลือก นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง รักษาการเลขาธิการ กสทช.  ด้วยมติ 6 เสียง ขณะที่นายต่อพงศ์ เสลานนท์ งดออกเสียง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 66 ได้มีหนังสื่อประชาสัมพันธ์สื่อสารภายในองค์กร ลงชื่อโดย พันตำรวจเอกประเวศน์ มูลประมุข เลขานุการประจำประธาน กสทช.ระบุว่า  ประธานกสทช. ยังไม่ใด้มีคำสั่งยกเลิกหรือเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งนายไตรรัตน์ จากการเป็นรักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. และยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งนายภูมิศิษฐ์ รองเลขาธิการ ให้รักษาการแทนเลขาธิการ กสทข. แทนนายไตรรัตน์ แต่อย่างใด

ดังนั้น นายไตรรัตน์ ยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่และมีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับเลขาธิการ กสทช. ทุกประการจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ในการประชุมบอร์ดในวันนี้( 26 มิ.ย.) ได้ใช้เวลากว่า 3 ชั่วโมงในการพิจารณาว่า จะรับรองหรือไม่รับรองวาระการประชุมเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. แต่ก็ยังไม่สามารถได้ข้อสรุปในเรื่องนี้

โดยแหล่งข่าวจาก กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุม ได้มีการถกกันเรื่อง การรับรองการประชุม โดย บอร์ด กสทช.เสียงข้างมากที่ลงมติ ปลดนายไตรรัตน์ บอกได้ว่ารับรองแล้ว มติเป็นกฎหมายแล้ว ทางประธาน กสทช.ต้องปฎิบัติตาม  แต่ บอร์ด กสทช. อีก 3 ท่าน บอกไม่รับรอง ทำให้บันทึกการประชุมไม่ได้

นอกจากนี้ยังมีการถกกันเรื่องมติในที่ประชุมเรื่องปลดนายไตรรัตน์ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เนื่องจากประธาน กสทช. มองว่ามตินี้ เป็นการลงโทษนายไตรรัตน์ ก็ต้องใช้วีธีปกครองตาม พ.ร.บ. ปกครองฯ และตามด้วยระเบียบ กสทช. ซึ่งการโหวตลงมติ อาจไม่สอดคล้อง  กฎระเบียบและชอบด้วยกฎหมาย ทำให้การลงมติในวันนั้น จะใช้ปฎิบัติได้หรือไม่ ถือว่ามีคุณ มีโทษต่อบุคคล มีระเบียบรองรับหรือไม่  

“ 3 ชั่วโมง ที่ถกกันบอร์ด 4  ท่าน มองว่า มติปลดมีผลตามกฎหมายแล้ว แต่ ประธาน กสทช.เห็นว่า ต้องยึดตามระเบียบและกฎหมาย การจะลงโทษคน จะเป็นระเบียบทางปกครอง ซึ่งอำนาจระเบียบทางปกครองอยู่ที่ประธาน กสทช . รวมถึงความรับผิดชอบทางกฎหมายด้วย หากทำอะไรผิดกฎหมาย ประธานฯ ก็ต้องรับผิดชอบ ขนาดที่บอร์ดคนอื่นๆ ไม่ต้องรับผิดชอบ  เรื่องนี้จึงต้องถกกันต่อ เพราะยังไม่ได้ข้อสรุป ทำให้ นายไตรรัตน์ ยังคงเป็นรักษาการเลขาธิการ กสทช.อยู่ จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงจากประธาน กสทช.  โดย ต้องดูว่า กระบวนการ เอาผิดนายไตรรัตน์ ชอบตามก.ม.หรือไม่  ถ้าไม่ชอบด้วย ก.ม.ก็ต้องทำให้ชอบ และต้องพิสูจน์ว่า นายไตรรัตน์ มีความผิดจริง ถึงจะลงโทษ รวมถึงกระบวนการสอบ มีความยุติธรรมหรือไม่ด้วย ”

ขณะที่แหล่งข่าวจาก กสทช. อีกราย กล่าวว่า  ในเรื่องการลงมติให้ นายไตรรัตน์ หยุดปฎบัติหน้าที่ รักษาการเลขาธิการ กสทช.  ต้องดูว่ากระบวนการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องไปดูกระเบียบ การแต่งตั้งและปลดรักษาการเลขาธิการ กสทช. หากเขียนว่า การลงมติ สามารถทำได้ก็คือทำได้

“ตอนนายไตรรัตน์ ขึ้นมารักษาการ ในสมัย กสทช.ชุดก่อน ทางบอร์ดก็เป็นผู้โหวต และ ประธาน กสทช. ก็ตั้งตามมติบอร์ด ซึ่งการปลดในครั้งนี้กระบวนการก็คล้ายกับตอนแต่งตั้งรักษาการ เพียงแต่ว่าครั้งนี้เป็นการต่อสู้ทางกฎหมายที่บอร์ด กสทช.มองไม่เหมือนกัน”

 อย่างไรก็ตามปกติการลงโทษทางปกครองของ สำนักงานฯ หากพนักงานผิดวินัย เลขาฯ จะเป็นคนตั้งกรรมการสอบ  แต่หากเลขาฯ ผิด ทาง กรรมการ กสทช. จะเป็นคนตั้งกรรมการสอบ แต่สถานะรักษาการเลขา กสทช. ก็ถือเป็นพนักงานคนหนึ่ง ซึ่งทางนายไตรรัตน์ ในฐานรักษาการ เลขาฯ คงไม่ตั้งกรรมการมาสอบตนเอง  ทาง บอร์ด กสทช.เสียงข้างมาก 4 ท่าน ก็เลยลงมติให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ แล้วตั้งรักษาการเลขาฯ คนใหม่ ขึ้นมาเพื่อให้สามารถตั้งกรรมการสอบ นายไตรรัตน์ได้

“เรื่องนี้มีทางออกโดยการเอากฎหมายมากางดูว่าทำได้ตามกฎหมายหรือไม่ และกสทช.ก็มีคณะกรรมการที่ปรึกษาทางกฎหมายที่สามารถสอบถามได้  หรือ จะทำหนังสือถามไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็ได้ กระบวนการมันมีทางออกข้อยุติทางกฎหมายอยู่” แหล่งข่าว จาก กสทช. กล่าว