เพราะผมรู้จัก “ชุมชนพูนบำเพ็ญ” แห่งนี้ดี และมีเรื่องเล่าให้ฟังเยอะแยะ ผมจึงบอกเธอว่าจะจองเรือไฟฟ้าไว้เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยฝั่งธนบุรีนี้ เรามีผู้ประกอบการรักษ์โลกที่ได้พัฒนาเรือไฟฟ้าขึ้นมาเพื่อลด Carbon Footprint อีกทั้งช่วยลดเสียงรบกวนต่อชาวบ้านริมคลอง โดยวิ่งในความเร็วที่เหมาะสม และไม่สร้างความรำคาญ โดยเมื่อถึงวันนัดหมาย ผมถึงชุมชนพูนบำเพ็ญแต่เช้า ไม่แน่ใจว่าเธออยู่ที่ Home Stay ไหน เพราะมีที่พักน่ารักหลายแห่ง บางแห่งมี Street Art ที่มีศิลปินชุมชนมาสร้างงานศิลปะไว้เป็นจุด Check In บางแห่งก็เป็นบ้านไทยโบราณริมคลอง แต่ที่นี่คงหากันเจอไม่ยาก เพราะมีเส้นทางหลัก เป็นทางเดินริมคลองไปเรื่อย ๆ จนถึงทางแยกเข้าชุมชน และวนกลับมาที่เดิมได้

ระหว่างเดินชมสวนกล้วยไม้ไปตามทาง ผมก็เห็นเพื่อนสาวนั่งจิบกาแฟอยู่ในร้านกาแฟวินเทจ ที่ประดับประดาด้วยของสะสมโบราณ ดูท่าทางเธอดีใจอย่างมากที่เจอกัน เพราะไม่ได้พบกันมานาน พอ Say Hello เสร็จ เธอกระโดดสวมกอดผมด้วยความคิดถึง ผมบอกเธอว่าดีใจมากที่ได้ต้อนรับเพื่อนเก่าจากแดนไกล วันนี้จะพาไปท่องเที่ยวทางน้ำแบบไทยโบราณย้อนอดีต เพราะที่นี่คือ เวนิสตะวันออก

ก่อนอื่นผมอยากเริ่มต้นด้วยการพาเธอชมรอบ ๆ ชุมชนนี้ ที่มีแปลงเกษตรแบบดั้งเดิมของเกษตรกรริมน้ำ โดยเราเดินผ่านแปลงเกษตรปลอดสารที่ปลูกพืชต่างพันธุ์ และนำมาแลกเปลี่ยนกันได้ บางที่ก็เป็นพื้นที่ส่วนกลางที่ทุกคนช่วยกันดูแล และมาเก็บไปทานได้แบบพอเพียง จากนั้นเราได้แวะทานขนมไทยนานาชนิด และแวะคุยกับชาวบ้าน โดยเข้าไปนั่งเล่นในบ้านของเขา แถมชาวบ้านยังดูดวงไพ่ยิปซีให้ด้วย ต่อมาก็ไปดูศูนย์อนุรักษ์เครื่องยนต์โบราณ ต่อด้วยตลาดชุมชนที่มีสินค้าชาวบ้านที่หลากหลาย นี่แค่วนรอบหมู่บ้านก็หอบสินค้าชุมชนต่าง ๆ ไปหลายถุงแล้ว

ผมได้บอกกับเธอว่า ชุมชนพูนบำเพ็ญเข้มแข็งขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนจากธนาคารออมสิน ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อสังคมใน “โครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น” โดยมีคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยสยาม นำความรู้ต่าง ๆ มาช่วยพัฒนาสินค้าและบริการของชุมชนเพื่อเพิ่มรายได้ และมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสยาม คณะต่าง ๆ มาเป็นอาสาสมัคร และใช้ชุมชนเป็นพื้นที่การเรียนรู้ ที่เรียกว่า Community Living Lab

สำหรับการสนับสนุนของธนาคารออมสินนั้น นอกจากชุมชนพูนบำเพ็ญแล้ว ธนาคารยังได้ให้การสนับสนุนโครงการแบบชุมชนพูนบำเพ็ญนี้อีกมาก โดยร่วมทำงานกับสถาบันการศึกษา 65 แห่ง มีนักศึกษาร่วมโครงการกว่า 3,000 คน โดยทำงานใน 335 ชุมชน จนทำให้ชาวบ้านกว่า 6,000 ครัวเรือน มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 80% ซึ่งเมื่อเพื่อนชาวต่างชาติได้ยินเรื่องนี้ เธอบอกผมว่าเธอประทับใจมาก  และอยากให้ประเทศของเธอมีความร่วมมือแบบนี้บ้าง ผมบอกเธอว่านี่แค่เริ่มต้นนะ เดี๋ยวจะพาล่องเรือย้อนอดีตไปอีกหลายร้อยปี จากคลองบางเชือกหนังไปยังคลองอื่น ๆ อีกหลายคลอง จนถึงตลาดน้ำลัดมะยม โดยจะแวะชมวัดวาต่าง ๆ ตลอดเส้นทาง ที่แต่ละวัดมีศิลปะงดงามตระการตา และมีประวัติศาสตร์ที่น่าค้นคว้า ซึ่งอดีตของที่นี่หลาย ๆ เรื่องเกี่ยวพันกับบรรพบุรุษของเธอ ที่เคยมาเยือนสยามในสมัยล่าอาณานิคม

ทั้งนี้ เราจบวันแสนสุขด้วย Dinner เรียบง่ายใต้แสงเทียน พร้อมชมหุ่นละครเล็กที่บ้านศิลปินริมคลองบางหลวง สุดท้ายเธอกระซิบบอกผมว่า…เสน่ห์ของชุมชนริมคลองฝั่งธนนี้…น่าประทับใจไม่รู้ลืม.