โดยมีรายงานข่าวจากการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยช่วงหนึ่ง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายไทม์ไลน์การมีรัฐบาลชุดใหม่ ว่า “…ภายหลัง กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส.ส. จะต้องไปรายงานตัวที่สภา ในวันที่ 20-28 มิ.ย. 66 เมื่อเสร็จแล้วจะมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จากนั้นจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 ก.ค. 66 จากนั้นประธานสภา เรียกประชุม 2 สภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค. คาดว่าจะมีการแต่งตั้ง ครม.ใหม่ ในวันที่ 21 ก.ค. และถวายสัตย์ฯ ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ซึ่ง ครม.จะทำงานจนกว่า ครม.ชุดใหม่จะถวายสัตย์ปฏิญาณ จึงจะสิ้นสุดการทำงาน…” 

ขณะที่ฝั่ง 8 พรรคร่วมรัฐบาล 312 เสียง ที่มีพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เป็นแกนนำ ก็เริ่มนับถอยหลัง ยกสุดท้ายในศึกเดิมพันอำนาจเลือกตั้งกระชั้นเข้ามาเช่นเดียวกัน ซึ่งก่อนที่ “ทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่เจอพลัง “นิติสงคราม” รุมใส่ทั้งปมร้อนหุ้นไอทีวี ปม ม.151 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในการตรวจสอบคุณสมบัติ รวมถึงด่านหินสุดโหดในการหา ส.ว. 64 เสียง เพื่อให้ได้เสียง 376 เสียง เกินกึ่งหนึ่งของที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งโอกาสริบหรี่ เพราะ ส.ว. วันนี้ ยังเป็นฐานอำนาจสำคัญของ “2 ป.”

แต่ศึกด่านแรก ของ “ก้าวไกล-เพื่อไทย” คือตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่วันนี้ ไม่มีใครยอมใคร พรรคก้าวไกลก็สู้ไม่ถอย ขณะที่พรรคเพื่อไทยเล่นเกมตีสองหน้า ฉากหนึ่งก็โปรยยาหอมให้พรรคที่ได้เสียงอันดับ 1 แต่ในทางปฏิบัติ ลูกพรรคกว่าร้อยละ 90 เดินหน้าแห่คัดค้านยกเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติให้พรรคก้าวไกล

ซึ่ง กูรูการเมืองอย่าง “อ.วันนอร์” วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชาติ และ “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็อ่านขาดว่า ถ้าทั้ง 2 พรรคใหญ่ตกลงกันเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ ก็จะสะเทือนถึงการตั้งรัฐบาลแน่นอน

ทำให้เกิดช่อง ดีลลับ เปลี่ยนขั้วตั้งรัฐบาลทันที ท่ามกลางข่าวลือสะพัดการบินไป อังกฤษ ของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในช่วงค่ำคืนของวันที่ 20-25 มิ.ย. นี้ กระพือข้ามทวีปว่า “ดีลลับ…โอเคแล้ว” ขณะที่ แกนนำพรรคก้าวไกล ก็ต้องออกมาปฏิเสธข่าว “ผู้นำจิตวิญญาณ” โทรศัพท์ไป จ.บุรีรัมย์ หา “ครูใหญ่” เนวิน ชิดชอบ ขอเสียงสนับสนุนโหวต “พิธา” เป็นนายกรัฐมนตรี ตรงนี้แสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจพรรคเพื่อไทยเช่นกัน??

ดังนั้น ศึกช่วงชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเกิดขึ้นในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ก.ค. นี้ จะเป็นตัวพิสูจน์ว่า 8 พรรคร่วมรัฐบาล จะตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ หรือจะเป็นจุดแตกหักกันแน่!!