เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. ปี 2566 ซึ่งจะมีการสอบภาค ก ความรู้ความสามารถทั่วไป วันที่ 24 มิ.ย. 2566 ภาค ข มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพ วันที่ 25 มิ.ย. 2566 และประกาศรายชื่อผู้ผ่าน ภาค ก และ ภาค ข เพื่อมีสิทธิเข้ารับการประเมิน ภาค ค ภายในวันที่ 3 ก.ค. 2566 ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) และสำนักบริหารการศึกษาพิเศษ (สศศ.) 205 แห่ง ซึ่งมีจำนวนผู้สมัครทั้งสิ้น 172,026 คน ตำแหน่งว่าง 7,813 อัตรา ใน 63 กลุ่มวิชานั้น ในวันที่ 24 มิ.ย. ตนจะไปตรวจเยี่ยมสนามสอบครูผู้ช่วยในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งรวมการเตรียมความพร้อมการจัดสอบที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ได้กำชับให้ สพฐ. ดำเนินการด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบการรายงานปัญหาหรืออุปสรรคใดๆ ทั้งนี้ขอฝากเตือนว่าอย่าไปหลงเชื่อกลุ่มคนที่มาแอบอ้างว่าสามารถทำให้ได้บรรจุเป็นข้าราชการครูจากการสอบครั้งนี้ได้ ซึ่งหากใครมีข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในการสอบดังกล่าว ให้สามารถแจ้งมาที่ตนโดยตรงหรือส่วนกลางพร้อมจะตรวจสอบให้ทันที โดยขอให้การสอบครูผู้ช่วยปี 2566 เป็นไปด้วยความโปร่งใสยุติธรรมและตรวจสอบได้ เพื่อให้ได้ครูที่เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า  สำหรับเรื่องการออกข้อสอบครูผู้ช่วยนั้นมีสถาบันการศึกษาที่ร่วมออกข้อสอบแบ่งเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต 9 แห่ง Cluster ที่ 1, 3, 4, 8, 9, 12, 13, 17 และ 18 มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี Cluster ที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช Cluster ที่ 5 มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี Cluster ที่ 6 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี Cluster ที่ 7 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี Cluster ที่ 10, 11 มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี Cluster ที่ 14  มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ Cluster ที่ 15 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย Cluster ที่ 16 และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เขตบริหารงานการศึกษาพิเศษ ซึ่งตนได้ย้ำเป็นนโยบายไปแล้วว่าการออกข้อสอบจะต้องตอบโจทย์บริบทของแต่ละพื้นที่ ต้องมีความยืดหยุ่นต้องไม่ยากหรือง่ายจนเกินไป และทุกมหาวิทยาลัยที่ได้รับมอบหมายให้ร่วมรับผิดชอบออกข้อสอบจะต้องจัดทำข้อสอบเป็นมาตรฐานกลางที่ใช้วัดคนที่จะมาเป็นครูจะต้องเน้นการแก้ปัญหาหรือทักษะเฉพาะหน้าให้มากขึ้นไม่ใช่เน้นการสอบด้านเนื้อหาวิชาการอย่างเดียว ซึ่งข้อสอบถือเป็นกุญแจสำคัญ เพื่อที่จะได้ครูตรงกับความต้องการ