นางวราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมการค้ายาสูบไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้รับร้องเรียนจากร้านค้าเกี่ยวกับปัญหาบุหรี่เถื่อนหนีภาษีจำนวนมาก ทำให้ร้านค้าที่ถูกกฎหมายได้รับผลกระทบจำหน่ายสินค้าไม่ได้ เพราะนอกจากการล็อกดาวน์แล้ว ยังมีปัญหาบุหรี่เถื่อนที่เข้ามาอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้พบว่ามีเครือข่ายลักลอบนำเข้าบุหรี่เติบโตอย่างไม่เกรงต่อกฎหมาย โดยมีการลำเลียงนำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านทั้งทางบกและทางทะเลอย่างต่อเนื่อง เช่น สตูล-หาดใหญ่ เป็นพื้นที่หลักของสินค้าเถื่อน  

ทั้งนี้ ขอให้ฝ่ายความมั่นคง กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร เร่งเอาจริงเอาจังกับการจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าและผู้ขายบุหรี่ที่ไม่เสียภาษี เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์เงินภาษีของรัฐ เงินภาษีของท้องถิ่น ซึ่งอาจทำให้รัฐสูญเงินภาษีปีละ 3-4 พันล้านบาท รวมถึงดูแลรายได้ของร้านค้าที่ถูกกฎหมายในพื้นที่ ก่อนที่ผู้ค้าที่จ่ายภาษีอย่างถูกต้องจะล้มหายไป 

“แม้สถานการณ์โควิด-19 ระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในช่วงต้นปี 64 แต่ปัญหาบุหรี่เถื่อนกลับเติบโตและมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่เถื่อนอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฎหมาย และไม่หยุดการลักลอบบุหรี่เถื่อนเข้าประเทศได้เลย โดยการยาสูบแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยประมาณการบุหรี่เถื่อนในประเทศไทยช่วงปี 63 ว่ามีสัดส่วนสูงถึง 29% และประมานการว่ารัฐต้องสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษีสรรพสามิตบุหรี่เถื่อนไปประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท”  

นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมฯ ให้ความสำคัญในมาตรการเชิงรุกป้องกันและปราบปรามผู้กระทำผิดการลักลอบจำหน่ายสินค้าที่ผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง โดยสถิติตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.63–2 ก.ย.64  พบว่ามีการกระทำผิด 23,283 คดี คิดเป็นเงินค่าปรับ 528.30 ล้านบาท โดยแยกเป็นสุรา  13,273 คดี ค่าปรับ 119 ล้านบาท ส่วนยาสูบมีการจับได้ 6,443 คดี ค่าปรับ 253 ล้านบาท เป็นต้น