สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ว่า เรือดำน้ำความยาว 21 ฟุต ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โอเชียนเกต เอ็กเพดิชันส์ เริ่มดำดิ่งสู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก เมื่อช่วงเช้าของวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ก่อนที่จะขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน ในเวลาไม่ถึง 2 ชั่วโมงหลังจากนั้น

หน่วยยามชายฝั่งของสหรัฐดำเนินการค้นหาในวงกว้าง ประมาณ 1,450 กิโลเมตร ทางตะวันออกของเคปค้อด ในรัฐแมสซาชูเซตส์ ขณะที่หน่วยยามชายฝั่งของแคนาดา ส่งเครื่องบินปีกตรึงและเรือ ไปยังพื้นที่ค้นหาเช่นกัน

“การค้นหาในพื้นที่ห่างไกลนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่พวกเรากำลังส่งทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด เพื่อทำให้แน่ใจว่า เราสามารถระบุตำแหน่งเรือดำน้ำ และช่วยเหลือผู้โดยสารที่อยู่ในนั้นได้” พล.ร.ต.จอห์น เมาเกอร์ จากหน่วยยามชายฝั่งสหรัฐ ผู้ดูแลปฏิบัติการค้นหา กล่าว

เมาเกอร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เวลาเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากเรือดำน้ำดังกล่าวมีอากาศให้ลูกเรือ 5 คน หายใจราว 96 ชั่วโมง และเขาเชื่อว่า ตอนนี้เรือยังคงมีออกซิเจนเหลืออยู่ประมาณ 70 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น

ทั้งนี้ โอเชียนเกต เอ็กเพดิชันส์ ระบุในเว็บไซต์ของบริษัทว่า การดำน้ำสำรวจบริเวณซากเรือไททานิก “อยู่ในระหว่างดำเนินการ” โดยบริษัทใช้เรือดำน้ำที่มีชื่อว่า “ไททัน” สำหรับการดำน้ำลึกสูงสุดถึง 4,000 เมตร

แม้ว่าจะไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับตัวเรือดำน้ำ แต่นายอลิสแตร์ เครก ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมทางทะเล จากมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน เสนอทฤษฎีที่เป็นไปได้ 2 ทฤษฎี โดยอ้างอิงจากภาพของเรือดำน้ำที่เผยแพร่โดยสื่อ

ทฤษฎีแรก คือ เกิดปัญหาทางไฟฟ้าหรือการสื่อสาร ซึ่งเรืออาจโผล่ขึ้นมาและกำลังลอยอยู่ จนกว่าจะมีคนไปพบมัน ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่ง คือ เกิดปัญหากับโครงสร้างต้านความดัน ส่งผลให้เรือรั่ว ซึ่งมันเป็นสถานการณ์ที่ไม่สู้ดี.

เครดิตภาพ : AFP