กรณี พล.ต.ต.กัมพล ลีลาประภากรณ์ ผบก.ภ.จว.ชลบุรี กับพวกนายตำรวจ ถูกแจ้งจับในคดีรีดเงินแก๊งเว็บพนันออนไลน์ กว่า 140 ล้านบาท นั้น
คืบหน้าเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ได้มีการเปิดเผยภาพจากกล้องวงจรปิด ที่สามารถบันทึกภาพขณะนำตัวผู้ต้องหา คือ นายเป้ ออกจากอาคาร โดยมีตำรวจคุมตัวนายเป้ (สวมเสื้อสีขาว) หลังถูกคุมตัวพาขึ้นไปบริเวณชั้น 2 ตรงไปที่ห้องทำงานของผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี ในเวลา 18.51 น. ของวันที่ 23 พ.ค. ซึ่งเป็นวันเดียวกัน ที่ตำรวจเข้าตรวจค้นจับกลุ่มภายในบ้านพักย่านคลองสามวา
โดยการเข้าควบคุมตัวนายเป้ ที่บ้านพักย่านคลองสามวา และไม่ได้นำตัวไปส่งพนักงานสอบสวนที่ สน.คันนายาว ก่อนพบว่านายเป้ ถูกนำตัวไปที่กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี และถูกกล่าวหาว่า มีการเรียกทรัพย์สินภายในห้องทำงานของอดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี
ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เปิดเผยว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ซึ่งอาจเป็นกรณีแรกที่มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหลังบังคับใช้ พ.ร.บ. นี้ เมื่อเดือน ก.พ. 66 ที่ผ่านมา
สำหรับบทลงโทษสำหรับตำรวจที่ไม่ทำตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ หรือ พ.ร.บ.อุ้มหาย ในมาตรา 22 เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง ในขณะจับกุมและควบคุม จนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าวไป เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถกระทำได้ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นเป็นหลักฐานบันทึกไว้ในการควบคุมตัว ซึ่งบทกฎหมายใน พ.ร.บ.นี้ ไม่ได้กำหนดโทษเอาไว้ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ทำผิดก็จะผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจาคุกตั้งแต่1 ปี ถึง10 ปีหรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” เป็นข้อหาเบื้องต้น แต่หากการสอบสวนพบการกระทำความผิดมากกว่านั้น ก็ดำเนินคดีไปตามพยานหลักฐานและพฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ.