เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ (สศศ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ตนได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนสังกัดสศศ.ในพื้นที่ภาคกลางตามนโยบายของนายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) และดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการกพฐ.ในฐานะที่กำกับดูแลงานของสศศ. ซึ่งตนได้ลงพื้นที่ในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โดยโรงเรียนทั้งสองกลุ่มเป็นโรงเรียนที่ให้โอกาสทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาสและครอบครัวที่ประสบปัญหา ซึ่งสิ่งที่ทำให้เราพบปัญหาและน่าเป็นห่วงคือเด็กมีภาวะซึมเศร้าและยาเสพติด โดยตนได้กำชับผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสศ.ให้ปรับระบบคัดกรองอย่างเข้มข้น และความปลอดภัยในสถานศึกษา ซึ่งครูจะต้องออกเยี่ยมบ้านนักเรียน เพื่อประสานข้อมูลความช่วยเหลือในการแก้ปัญหาร่วมกับผู้ปกครองว่าเด็กแต่ละคนมีพื้นฐานและสภาพจิตใจเป็นอย่างไร ขณะเดียวกันหลังจากเปิดภาคเรียนใหม่มาได้ 2 เดือนเราได้ย้ำนโยบายของเลขาธิการกพฐ.ลงสู่การปฎิบัติคือไม่เน้นวิชาการที่อัดแน่นในช่วงแรก แต่อยากให้ครูได้จัดกิจกรรมละลายพฤติกรรมเด็ก และสร้างกิจกรรมที่สร้างสรรค์ในการอยู่ร่วมกันในสังคม เพื่อให้เด็กได้เรียนอย่างมีความสุข

ผอ.สศศ.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการบริหารจัดการโรงเรียนในสังกัดสศศ.นั้นตนไม่สามารถบอกได้ว่าจะชูโรงเรียนใดให้เป็นต้นแบบในการจัดการศึกษาแบบโดดเด่น เพราะแต่ละโรงเรียนมีบริบทที่แตกต่างกัน เช่น โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 28 จ.ยโสธร มีการบริหารจัดการสถานศึกษาปลอดภัยได้ดีเยี่ยม โดยการจัดทำระบบการคัดกรองบุคคลภายนอกด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 24 จ.พะเยา ที่มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยครูสามารถทลายกำแพงในใจเด็กและทำให้เด็กกล้าคิดในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็นในอนาคตได้ รวมถึงโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 23 จ.พิษณุโลก ที่โรงเรียนแห่งนี้โดดเด่นการสร้างอาชีพให้แก่นักเรียนทำให้เด็กมีรายได้ไปดูแลครอบครัว เป็นต้น

“นอกจากนี้ตนยังเข้าใจดีว่าบุคลากรครูที่ทำหน้าในโรงเรียนสังกัดสศศ.ต้องทุ่มเทภาระงานอย่างหนักนอกเหนือจากการสอน เพราะต้องดูแลนักเรียนตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำพักนอนด้วย ดังนั้นสศศ.จึงได้เตรียมจัดทำข้อมูลความต้องการจำเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตามมาตรา 38 ค (2) ในสถานศึกษาสังกัดสศศ. เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) พิจารณา ซึ่งจากนี้ไปโรงเรียนสังกัดสศศ.จะมีเจ้าหน้าที่ประจำหอพัก เจ้าหน้าที่ธุรการ โดยครูจะได้ทำหน้าที่การสอนจริงๆอย่างเต็มที่” นางภัทริยาวรรณ กล่าว