นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ได้ประกาศเชิญชวนเอกชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม วงเงินรวมกว่า 1,361 ล้านบาท โดยรูปแบบการร่วมลงทุนเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติคือให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้าง และบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานรายปีในส่วนอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์  

ขณะที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ เครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงเอกชนเป็นผู้รับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (Operation and Maintenance : O&M) ในส่วนอาคารและพื้นที่ใช้สอยในการรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางตามรอบระยะเวลา รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงทางด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 30 ปี นับจากปีเปิดให้บริการ 

นายจิรุตม์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการเวนคืนที่ดิน และเตรียมดำเนินการก่อสร้างในส่วนที่ภาครัฐรับผิดชอบ ในปี 65-67 และมีแผนเปิดให้บริการในปี 68 โดยการคัดเลือกเอกชนในครั้งนี้จะดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 นอกจากนี้เอกชนที่เข้าร่วมลงทุนในโครงการยังจะสามารถขอรับสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ BOI กำหนดอีกด้วย 

ทั้งนี้ เอกชนที่สนใจสามารถติดต่อขอซื้อเอกสารข้อเสนอการร่วมลงทุน (Request for Proposal : RFP) ได้ที่ส่วนพัสดุและแผ่นป้ายทะเบียนรถ อาคาร 6 ชั้น 4 กรมการขนส่งทางบก เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.-13 ส.ค.64 (ทุกวันทำการ) เวลา 09.00-15.00 น. ดาวน์โหลดเอกสารประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม ได้ที่ www.dlt.go.th หากสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่ สำนักการขนส่งสินค้า โทร. 0 2271 8492-3  ในวันและเวลาราชการ 

นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม จัดเป็นหนึ่งในโครงการตามแผนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) ของ ขบ. ตั้งอยู่ที่ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม บนเนื้อที่กว่า 121 ไร่ ซึ่งจะทำหน้าที่รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศบนเส้นทางสาย R12 เชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-เวียดนาม-จีนตอนใต้ ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน)

รวมถึงรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางราง ผ่านแนวการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนม ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในอนาคต ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จ.นครพนมและจังหวัดใกล้เคียง ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่งสินค้า ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายของรัฐบาล