ชั้นหินที่เรียงตัวกันราวกับมีศิลปินมาจัดวางไว้บนหน้าผา คือมหัศจรรย์ธรรมชาติที่น้ำและลมรังสรรค์ขึ้น ผ่านเวลาอันยาวนานนับพันปี และนี่คือหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกนำเสนอให้เป็น “Unseen New Chapters” ของจังหวัดกาฬสินธุ์ “ผาแดงภูสิงห์”

“ผาแดง” เป็นหน้าผาหินทรายสีแดงที่มีขนาดใหญ่และหนา ปรากฏโครงสร้างธรณีวิทยาที่ค่อนข้างชัดเจน ทั้งการวางชั้นเฉียงระดับที่มีขนาดใหญ่ แสดงถึงทิศทางการไหลของแม่น้ำโบราณไปทางทิศใต้ 197 องศา การสะสมตัวของตะกอนแต่ละช่วงเวลาก่อให้เกิดทางน้ำเฉียงระดับ รวมถึงชั้นหินในทิศทางไหลของน้ำโบราณหลายสายหลายทิศทางจึงเกิดเป็นริ้วที่สวยงาม และสิ่งที่ทำให้เกิดเป็นสีแดงก็คือแร่เหล็กที่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ปะปนอยู่ในชั้นตะกอน ขณะที่เสาหลักหินทรายคือสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดจากการกัดเซาะกัดกร่อนจากน้ำและลม ความโดดเด่นทางธรณีวิทยาที่มีอยู่จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนให้ที่นี่เป็น “อุทยานธรณีกาฬสินธุ์”

บริเวณหลังเขาภูสิงห์ฝั่งตำบลสหัสขันธ์ เป็นบริเวณผาเป็นสีแดงส้มที่เห็นเด่นชัดมาก ด้านบนเป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นหมู่บ้านในเขตตำบลสหัสขันธ์ อำเภอสหัสขันธ์ที่ติดกับเขื่อนลำปาวได้อย่างชัดเจน การจะไปชมความสวยงามแปลกตาของหน้าผาหินจะต้องเดินไปตามเส้นทางท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติระยะทางราว 3 กิโลเมตร ตลอดทางเต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของป่าภูสิงห์ มีต้นไม้หายากขนาดใหญ่ เมื่อเดินลัดเลาะลงไปบริเวณหน้าผาก็จะพบผาแดง หินทรายสีแดงเรียงเป็นชั้น ๆ มีร่องรอยของการกัดเซาะของน้ำ

นอกจากนี้บริเวณฝั่งเทศบาลตำบลภูสิงห์ในอำเภอสหัสขันธ์ ยังมีการค้นพบสุสานหอยโบราณ และฟอสซิลไดโนเสาร์จำนวนมากด้วย แต่แหล่งที่มีการค้นพบซากไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดไม่ใช่แค่ในประเทศไทยแต่ใหญ่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์อยู่ที่ “ภูน้อย” ในพื้นที่ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์

บนแนวเทือกเขาภูพานที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 295 เมตร อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราชยุคจูราสสิคตอนปลายมีอายุประมาณ 150 ปี เป็นแหล่งที่มีการขุดค้นมากว่า 10 ปี โดยเริ่มค้นพบครั้งแรกในปี 2551 และเริ่มสำรวจขุดค้นในปี 2553 โดยทีมสำรวจจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณีมีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ตั้งแต่ฟันขนาดเล็กเพียงไม่กี่มิลลิเมตร จนถึงกระดูกใหญ่เกือบเท่าตัวคน และมีความหลากหลายทางสายพันธุ์ ทั้งของจระเข้ ฉลามน้ำจืด เต่า ปลา สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากและได้รับฉายาว่าเป็น “จูราสสิคพาร์คเมืองไทย”

แต่หากต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับโลกยุคดึกดำบรรพ์ผ่านซากฟอสซิลของไดโนเสาร์ที่ค้นพบในเมืองไทย ต้องไปที่ “พิพิธภัณฑ์สิรินธร” อดีตศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าวที่ถือกำเนิดขึ้นหลังจากมีการพบโครงกระดูกของไดโนเสาร์กินพืช ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ในบริเวณที่เป็นหลุมขุดค้นปัจจุบัน โดยพระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ.2537 เป็นต้นมาคณะสำรวจไดโนเสาร์จากกรมทรัพยากรธรณีจึงได้เริ่มทำการขุดค้นอย่างเป็นระบบ และพบว่าภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งที่พบโครงกระดูกไดโนเสาร์กินพืชที่มีความสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย โดยมีการพบโครงกระดูกไดโนเสาร์ขนาดต่าง ๆ เป็นกระดูกชนิดกินพืชมากกว่า 7 ตัว จำนวนกระดูกมากกว่า 700 ชิ้น ที่สำคัญคือ พบชิ้นส่วนของหัวกะโหลก ฟันและกราม และโครงกระดูกที่เรียงรายต่อกัน เกือบจะสมบูรณ์ทั้งตัวอยู่ด้วย โครงกระดูกทั้งหมดอยู่ในชั้นหินที่วางตัวอยู่บนไหล่เขาของภูกุ้มข้าวซึ่งมีรูปร่างคล้ายลอมฟาง มีความสูงประมาณ 240 เมตร

“ศูนย์ศึกษาวิจัยและพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว” หรือพิพิธภัณฑ์สิรินธร ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับไดโนเสาร์และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบในปี พ.ศ.2550 ภายในอาคารแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 8 โซน ได้แก่ โซนที่ 1 กำเนิดโลกและจักรวาล โซนที่ 2 กำเนิดสิ่งมีชีวิต โซนที่ 3 มหายุคพาลีโอโซอิก (วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโบราณ) โซนที่ 4 มหายุคมีโซโซอิก (โลกแห่งสัตว์เลื้อยคลานและไดโนเสาร์) แบ่งโซนย่อยจัดแสดงเรื่องราวไดโนเสาร์ไทย โซนที่ 5 วิถีชีวิตไดโนเสาร์ โซนที่ 6 ปริศนาการสูญพันธุ์และคืนชีวิตให้ไดโนเสาร์ โซนที่ 7 มหายุคซีโนโซอิก (มหายุคแห่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม) และโซนที่ 8 เรื่องราวของมนุษย์ นอกจากนี้ยังสามารถชมหลุมขุดค้นซึ่งมีซากฟอสซิลจริงที่ขุดค้นพบเป็นครั้งแรกในบริเวณภูกุ้มข้าวได้ด้วย สอบถามข้อมูล โทร. 043 871 613 หรือดูที่ www.sdm.dmr.go.th

ได้เจอโครงกระดูกได้จินตนาการถึงวันที่ไดโนเสาร์ตัวใหญ่ยักษ์เคยขยับเคลื่อนไหวแล้ว ไปตามรอยกันต่อที่ “วนอุทยานภูแฝก” ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงห้วยฝา ใกล้ ๆ กับบ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง กิ่งอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ พื้นที่ที่มีการพบรอยเท้าไดโนเสาร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย เมื่อเด็กหญิงสองคนพร้อมด้วยผู้ปกครองไปกินข้าวในวันหยุด ได้พบรอยเท้าประหลาดกลางลานหินลำห้วยเหง้าดู่ เชิงเขาภูแฝก บริเวณเทือกเขาภูพานในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2539 หลังจากนั้นได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นักธรณีวิทยาพร้อมด้วยส่วนราชการและเอกชนในจังหวัดกาฬสินธุ์เดินทางไปสำรวจ จึงพบว่าเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ประเภทเทอร์โรพอด 7 รอย จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โนซอร์ชนิดกินเนื้อ อายุประมาณ 140 ล้านปี ปัจจุบันนั้นเห็นชัดเจนเพียง 4 รอย

บนพลาญหินที่เป็นทางน้ำของห้วยน้ำ รอยเท้านั้นยังฝังอยู่ในผิวหน้าของชั้นหินทรายที่แกร่งของหมวดหินพระวิหาร ชั้นหินที่พบกระดูกไดโนเสาร์มากที่สุดของประเทศไทย การพบรอยเท้านี้ยังทำให้รู้ด้วยว่าชั้นหินทรายในบริเวณนี้ ในอดีตมีสภาพเป็นหาดทรายริมน้ำ เป็นที่ที่ไดโนเสาร์เดินผ่าน หรือเที่ยวหากินอยู่ในบริเวณหาดทรายชุ่มน้ำนี้ รอยเท้าที่เกิดขึ้นไม่ได้ถูกคลื่นซัดให้ลบเลือน โดยอาจโผล่พ้นน้ำ ทำให้แดดเผาจนคงรูปร่างอยู่ หลังจากนั้นกระแสน้ำได้พัดพาเอาตะกอนมาปิดทับลงไปเป็นชั้นตะกอนใหม่ รอยเท้านั้นจึงยังคงอยู่ในชั้นตะกอนเดิม ต่อมาชั้นตะกอนแข็งตัวกลายเป็นหิน รอยเท้านั้นจึงปรากฏอยู่ในชั้นหิน ปัจจุบันธรรมชาติได้ทำลายชั้นหินส่วนที่ปิดทับรอยเท้าออกไป เผยให้เห็นรอยเท้าที่ไดโนเสาร์ได้ทิ้งเอาไว้เป็นประจักษ์พยานถึงการมีตัวตนในอดีต

เต็มอิ่มกับไดโนเสาร์แล้วอย่าลืมไปอิ่มบุญด้วยการนมัสการ “พระธาตุยาคู” พระสถูปสมัยทวาราวดี ช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 เดิมเรียกว่า “พระธาตุใหญ่” ตั้งอยู่กลางทุ่งนาทิศเหนือบ้านเสมา อำเภอกมลา เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง เมืองโบราณตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงครามได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดสงยางแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงยังคงเป็นโบราณสถานสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวบ้านจัดให้มีงานประเพณีสรงน้ำพระธาตุยาคูเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นให้กับหมู่บ้าน

แล้วไปแวะ “วัดวังคำ” ชมสถาปัตยกรรมที่โดดเด่น “สิมไทเมืองวัง” พระอุโบสถรูปทรงศิลปะล้านช้างที่มีความอ่อนช้อยงดงาม ลักษณะคล้ายกับวัดเชียงทอง เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นอกจากนี้ยังมีเจดีย์สีทององค์ใหญ่กลางวัด รูปแบบเดียวกับเจดีย์พระธาตุหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว ส่วนศาลาการเปรียญด้านในเป็นที่ประดิษฐาน “หลวงปู่วังคำ” พระประธานศิลปะล้านช้าง และยังมีธรรมาสน์ไม้ฝีมือช่างอันวิจิตรงดงาม

แล้วแวะไปเยือน “เขื่อนลำปาว” เขื่อนดินซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปาวและห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อนมีการขุดทางเชื่อมระหว่างอ่างเก็บน้ำทั้งสอง นอกจากช่วยบรรเทาอุทกภัยและใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาแล้ว ยังมีหาดดอกเกดเป็นสถานที่พักผ่อนด้วย

ก่อนกลับอย่าลืมแวะ “หมู่บ้านทอผ้าไหมแพรวา บ้านโพน” หมู่บ้านชาวผู้ไทย หรือภูไท ที่เป็นแหล่งทอผ้าไหมแพรวาอันมีเอกลักษณ์และมีชื่อเสียง ลักษณะเด่นของผ้าไหมแพรวาบ้านโพน จะประกอบด้วยลวดลายทรงเรขาคณิตเป็นจำนวนมากในผืนเดียวกัน ใช้เส้นไหมหลากสีสอดสลับ โดยทั่วไปประกอบด้วยลายหลัก ลายคั่นและลายช่อปลายเชิงสลับกันไป หากเป็นสไบหรือแพรจะมีเชิงแพรเพื่อเพิ่มความสวยงามยิ่งขึ้น เอกลักษณ์ดั้งเดิมของผ้าไหมแพรวาจะมีสีโทนแดงเป็นพื้น แต่ปัจจุบันมีการพัฒนาจนมีหลากหลายสีสันและลวดลาย ชมการจัดแสดงและเลือกซื้อผ้าไหมแพรวาได้ที่ ศูนย์วัฒนธรรมผู้ไทยผ้าไหมแพรวาบ้านโพน

หากอยากเรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่นให้ลึกซึ้งมากกว่าเดิม แนะนำให้ลองเข้าพักโฮมสเตย์บ้านโพนที่พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวที่สนใจมาพักอาศัยเพื่อศึกษาวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชาวผู้ไทย เรียนรู้วิถีชุมชนผู้ไทยพร้อมกับร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

สอบถามเส้นทางท่องเที่ยวเพิ่มเติมที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานขอนแก่น (ขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม) โทร.043 227 714 หรือติดตามที่ Facebook Fanpage : ททท.สำนักงานขอนแก่น TAT Khonkaen Fanpage