จากกรณี นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ได้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมขอให้ กกต. นำไปตรวจสอบเพิ่มเติม กรณีตั้งกรรมการสืบสวนสอบสวนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล ที่ถูกพิจารณาในคดีอาญา มาตรา 151 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. 2561 รวมทั้งขอให้ กกต. ตรวจสอบตามแบบ ส.ส. 4/20 ซึ่งเป็นหนังสือยืนยอมให้เสนอชื่อลงสมัครเป็น ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และ 4/30 หนังสือยินยอมให้เสนอชื่อรับแต่งตั้งเป็นนายกฯ ว่า เข้าข่ายตามความในมาตรา 132 หรือไม่ จนกลายเป็นประเด็นที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงไปทั่วทั้งสังคมออนไลน์นั้น
ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผอ.หลักสูตรปริญญาเอก สาขาการเมืองและยุทธศาสตร์การพัฒนา นิด้า ได้โพสต์ข้อความระบุว่า “ข้อสังเกตบางอย่างกับการทำงานของ กกต.”
10 พฤษภาคม 2566 เรืองไกรยื่นคำร้องพิธาถือหุ้นสื่อ
6 มิถุนายน 2566 กกต. จึงค่อยตัดสินยกคำร้องของนายเรืองไกร เนื่องจาก ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2566 ซึ่งพ้นระยะเวลาการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร ส.ส. ตามมาตรา 51 ประกอบมาตรา 60 พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กำหนดว่าต้องยื่นภายใน 7 วัน นับแต่ กกต. ประกาศรายชื่อเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง
“คำถาม ทั้ง ๆ ที่ กกต. รู้ว่า นายเรืองไกรทำไม่ถูกต้องตามกฎหมายตั้งแต่ต้น ทำไมจึงไม่รีบประกาศให้ผู้เลือกตั้งทราบก่อนวันเลือกตั้ง กลับปล่อยเวลาให้ผ่านไปร่วมเดือน ก่อนประกาศ” ผิดกับกรณี ยิงเลเซอร์ใช้สะพานพระราม 8 ของผู้สมัครพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่รีบออกมาบอกทันทีว่าไม่ผิดกฎหมาย น่าฉงนกับการทำงานของ กกต. ยิ่งนัก..
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต