ซึ่งแขกคนแรกในวันนี้ เป็น “ว่าที่ภูมิสถาปนิกคนรุ่นใหม่” อย่าง “เอิน-พริมา อุทินทุ” นิสิตปี 5 จาก รั้วจามจุรี ที่เสนอแนวคิด “เปลี่ยนสวนสาธารณะเก่าให้เป็นพื้นที่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ตาม SDG 11 โดยเธอเล่าว่า สำหรับชาวแลนด์สเคป การออกแบบสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียว ไม่ใช่เพียงแค่การจัดองค์ประกอบต้นไม้ให้สวยงาม แต่ต้องเป็นการออกแบบที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน รวมถึงต้องเข้าใจบริบทวัฒนธรรมชุมชนและพฤติกรรมผู้คนที่ใช้ชีวิตในย่านนั้นด้วย จึงจะเป็นการออกแบบที่สร้างการเปลี่ยนแปลง และปรับปรุงระบบภูมินิเวศ ตลอดจนทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับระบบภูมิสังคมที่สมบูรณ์ ซึ่งมาตรฐานของ WHO ได้กำหนดไว้ว่าเมืองที่มีมาตรฐาน ควรมีพื้นที่สีเขียวมากกว่า 9 ตารางเมตรต่อประชากรหนึ่งคน แต่ปัจจุบัน กทม. มีพื้นที่สีเขียวแค่ 3 ตารางเมตรต่อประชากรหนึ่งคน

ในขณะที่สิงคโปร์ซึ่งมีประชากรหนาแน่นกว่าประชากรของ กทม. ได้พยายามเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทั้งบนพื้นดินและในอากาศ จนตอนนี้สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ย 66 ตารางเมตรต่อประชากรหนึ่งคน ที่สิงคโปร์นั้นไม่เพียงเพิ่มปริมาณ แต่ยังเน้นพัฒนาคุณภาพของพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่ชะลอน้ำกับการลดคาร์บอน รวมถึงยังมีการเชื่อมต่อกันเพื่อให้เป็นระบบนิเวศใหม่สำหรับเมืองที่ยั่งยืนอีกด้วย และด้วยความที่อยากจะช่วยพัฒนาพื้นที่สีเขียวของเมืองไทยให้เพิ่มขึ้น ทำให้ เอิน-พริมา และเพื่อน ๆ นิสิตภูมิสถาปัตย์ จุฬาฯ ได้แก่ ออมสิน-ธนัชชา ไตรรัตน์ และ แมงปอ-วริษา จิระภคโชติ จึงเสนอแนวคิดออกแบบปรับปรุง “สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ เขตบางคอแหลม” โดยแนวคิดของผลงานดังกล่าว ได้รับรางวัลชนะเลิศจากบริษัท ไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)

ทั้งนี้ เอิน ในฐานะตัวแทนของเพื่อน ๆ ได้เล่าว่า เริ่มต้นด้วยการลงพื้นที่พูดคุยกับชุมชนเพื่อวิเคราะห์ปัญหา และค้นพบว่า สวนหย่อมแท่นศิลาฤกษ์ ซึ่งมีขนาดประมาณ 1 ไร่นี้ ขาดอัตลักษณ์ชุมชนที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ อีกทั้งการออกแบบการใช้งานก็ไม่ตอบสนองกับกิจกรรมที่หลากหลายที่มี อีกทั้งมีมุมมืดและมุมอับที่ดูไม่ปลอดภัย ประกอบกับมักเกิดการขโมยอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในสวนอยู่เรื่อย ๆ เธอและเพื่อน ๆ จึงใช้ แนวคิด Reinventing เพื่อออกแบบสวนใหม่ให้ตอบสนองความต้องการของชุมชน อาทิ การปรับปรุง Lay Out ใหม่ และจัดทรงต้นไม้ให้โปร่งโล่งมากขึ้น รวมถึงลดมุมอับ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และเพื่อป้องกันการขโมยสิ่งของต่าง ๆ ออกไป ตลอดจนได้ออกแบบให้มีพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้นยังได้ออกแบบให้สวนที่ได้รับการปรับปรุงใหม่นี้ มีรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น มี Amphitheatre  มี Dog Park มีสนามเปตอง และเพิ่มอัตลักษณ์ชุมชนที่ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยนำองค์ประกอบของน้ำและความเป็นอู่ซ่อมเรือเก่าในอดีตของย่านนี้ มาใช้เป็นธีมในการออกแบบ ตลอดจนใส่ความคิดสร้างสรรค์ที่เล่นกับแสงและสีของไฟส่องสว่าง ให้เป็นเหมือนการสร้างงานศิลปะที่ชุบชีวิตสวนในยามค่ำคืนให้โดดเด่น 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่เช้าถึงเย็น และทั้งหมดนี้ก็เป็นแนวคิดจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ กับไอเดียฟื้นชีวิตสวนสาธารณะที่ถูกทิ้งร้างให้กลับมามีชีวิตขึ้นอีกครั้ง เพื่อสร้างพื้นที่สุขภาวะของชุมชน เพื่อให้ “Ship (จะไม่) หาย” อีกต่อไป โดย เอิน-พริมา ตัวแทนทีมกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากขอขอบคุณไทยวาโก้ที่มีงาน CSR ดี ๆ แบบนี้ออกมาช่วยสนับสนุน Changemakers รุ่นใหม่อย่างพวกเธอ โดยหวังว่า กทม. และสำนักงานเขตจะนำแบบที่ชนะการประกวดนี้ นำไประดมทุนเพื่อปรับปรุงให้เกิดขึ้นจริงในอนาคตอันใกล้ หรือทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแม้เพียงบางส่วนก็ยังดี.