ที่ผ่านมาทางสมาชิกองค์การสหประชาชาติประกอบด้วยประเทศต่าง ๆ 193 ประเทศ จึงได้กำหนดเป้าหมายด้านการพัฒนาความยั่งยืนร่วมกันใน 17 แนวทาง ในการทำให้โลกเราพัฒนาไปอย่างยั่งยืนได้ โดยเริ่มตั้งแต่การขจัดความยากจน, ความมั่นคงด้านอาหาร, การส่งเสริมให้มีความเป็นอยู่ที่ดี, การเสริมโอกาสในการเรียนรู้ และอีกหลาย ๆ เรื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อม เช่น เรื่องของพลังงานนํ้า, ปัญหาโลกร้อน, การอนุรักษ์นํ้า ระบบนิเวศต่าง ๆ ซึ่งทุก ๆ ประเทศต้องช่วยกัน โดยเฉพาะการลดอุณหภูมิของโลก และเรื่องของก๊าซเรือนกระจก โดยที่ทั้ง 193 ประเทศ ได้ลงนามความตกลง เพื่อพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ในปี 83

“สมจินต์ ศรไพศาล” กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย บอกว่า แนวทางการเปลี่ยนผ่านโลกเราไปสู่การสร้างโอกาสด้านความยั่งยืนได้นั้นทางองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) ได้ประเมินไว้ว่า การสร้างความยั่งยืนจะต้องใช้เงินถึงปีละ 5-7 ล้านล้านดอลลาร์ โดยใช้ในเรื่องกระบวนการขนส่งต่าง ๆ ที่ใช้พลังงานในลักษณะที่ยั่งยืนขึ้นประมาณปีละ 2 ล้านล้านดอลลาร์ แต่เรื่องอาคารและอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีก 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี และเรื่องของพลังงาน 9 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี แนวทางเรื่องนี้จึงกลายเป็นโอกาสการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้

สำหรับตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืนในไทยปัจจุบัน ประกอบด้วยตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม, ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม เป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิต, ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน เป็นการผสมระหว่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคม, ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน เป็นการที่นำเงินไปใช้ในกิจการทั่วไปของบริษัทได้โดยผู้ออกจะต้องกำหนดเป้าหมายที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมสังคมและความยั่งยืน หากบริษัททำไม่สำเร็จตามเป้าหมายในระยะเวลาที่กำหนด จะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยหน้าตั๋วให้แก่นักลงทุน

นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีตราสารหนี้เพื่อการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเป็นโครงการที่รองรับผู้ออก หรือโครงการที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เพื่อนำไปปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่การเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งจะเห็นว่าที่ผ่านมา มูลค่าการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืนของไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 61 มีการออกตราสารหนี้ยั่งยืน 10,050 ล้านบาท, ปี 62 ออกตราสารหนี้ยั่งยืน 29,040 ล้านบาท, ปี 63 ออกตราสารหนี้ยั่งยืน 86,400 ล้านบาท, ปี 64 ออกตราสารหนี้ยั่งยืน 168,806 ล้านบาท, ปี 65 ออกตราสารหนี้ยั่งยืน 219,494 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้ ระยะเวลา 5 เดือน มีการออกตราสารหนี้แล้ว 74,500 ล้านบาท คิดเป็น 34%

ขณะที่ยอดคงค้างของการออกตราสารหนี้ความยั่งยืน ณ สิ้นเดือน พ.ค. 66 อยู่ที่ 582,990 ล้านบาท คิดเป็น 3.2% ของตราสารหนี้ไทยทั้งหมดที่ 16.1 ล้านล้านบาท โดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออกตราสารหนี้ความยั่งยืนรายใหญ่ที่สุด ซึ่งในปี 64 พบว่า ภาคเอกชนมีการออกตราสารหนี้ยั่งยืนทั้งหมด 11 ราย ภาครัฐ ออก 2 ราย ส่วนปี 65 เอกชนมีการออกตราสารหนี้ 13 ราย ภาครัฐออก 4 ราย และปีนี้เอกชนออกตราสารหนี้ยั่งยืนไปแล้ว 2 ราย และภาครัฐออก 1 ราย

ณ สิ้นปี 65 ผู้ถือครองตราสารหนี้ความยั่งยืนในไทย ที่เป็นภาครัฐ มีมูลค่าถือครอง 318,400 ล้านบาท ภาคเอกชน มีมูลค่าถือครอง 166,645 ล้านบาท โดยที่ประเทศไทยมีการออกตราสารหนี้มากเป็นอันดับสองในอาเซียน รองจากสิงคโปร์

ทั้งนี้ ทำให้เห็นว่า เรื่องของความยั่งยืนได้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่ทุก ๆ องค์กรต่างใส่ใจและมีการระดมทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อความยั่งยืนของตัวบริษัทเอง โดยที่ประโยชน์ในมุมของผู้ระดมทุนนั้น จะช่วยขยายฐานผู้ลงทุนใหม่ ๆ เข้ามาร่วมลงทุน ช่วยให้การระดมทุนมีต้นทุนที่ตํ่าลงด้วย

ส่วนผู้ลงทุน จะได้ประโยชน์จากการลงทุนและช่วยสังคมสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน มีความผันผวนตํ่า โปร่งใส เป็นการลงทุนในลักษณะที่มีความรับผิดชอบ มีสถิติการออกและเสนอขายโดยผู้ออกไทย เติบโตเป็น 100% ทุก ๆ ปี เป็นภาพที่ดีหลังจากตลาดทุนไทยที่มีการสนใจในเรื่องนี้มาก.