เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 66 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง ในพื้นที่หมู่ 5 ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จ.ตรัง มอบหมายให้ นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช.ตรัง และคณะเจ้าหน้าที่ พร้อมด้วย นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง และสื่อมวลชน ลงพื้นที่สุ่มตรวจโครงการอาหารกลางวัน ภายหลังรับเรื่องร้องเรียนเรื่องคุณภาพอาหารที่จัดให้นักเรียนไม่เพียงพอ

เมื่อไปถึงได้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า โรงเรียนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลาง เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล 1 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 มีนักเรียนทั้งหมด 250 คน โดยทางรัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณค่าอาหารกลางวันรายหัวให้แค่นักเรียนระดับชั้น อนุบาล 1 ถึง ป.6 เท่านั้น รวม 208 คน หัวละ 22 บาท รวมเป็นเงิน 4,576 บาทต่อวันเปิดเรียน โดยงบดังกล่าวเบิกจ่ายผ่านทาง อบต.ปากแจ่ม ซึ่งทางโรงเรียนได้จัดทำอาหารกลางวันในรูปแบบจ้างเหมาพ่อครัวประกอบอาหารปรุงสำเร็จ ส่วนทางนักเรียนระดับชั้น ม.1 ถึง ม.3 อีก 42 คน จะนำอาหารจากบ้านมารับประทาน หรือซื้อข้าวเหนียวไก่ทอด ลูกชิ้น ฯลฯ ที่มีจำหน่ายในสหกรณ์ของโรงเรียนเป็นอาหารกลางวัน ส่วนนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม มีเพียง 2 คน หากวันไหนมีเมนูที่เกี่ยวกับเนื้อหมู ก็จะนำอาหารมาจากบ้านมาเอง

จากการตรวจสอบยังพบว่า ทางผู้รับเหมาหรือคู่สัญญาที่รับจ้างทำอาหาร ดำเนินการประกอบอาหารภายในห้องครัวของโรงเรียน ซึ่งเป็นการใช้น้ำ และไฟของโรงเรียน ไม่ได้ปรุงหรือทำมาจากข้างนอก ซึ่งทางโรงเรียนให้ข้อมูลว่า ได้มีการรับเป็นเงินบริจาคจากคู่สัญญา จ่ายให้กับทางโรงเรียนวันละ 300 บาท เป็นค่าน้ำและค่าไฟฟ้า

ส่วนเมนูอาหารกลางวัน วันนี้ (15 มิ.ย.) ที่มีการเขียนไว้บนบอร์ด ระบุว่า 1.ผัดซีอิ๊วเส้นใหญ่ ใส่ผัก และเนื้อหมู 2.น้ำซุปฟักเขียว ใส่ไก่สับ 3.กล้วยหอม (ครึ่งผล) แต่ผลปรากฏว่าไม่ได้มีกล้วยหอม แต่เปลี่ยนเป็นฝรั่ง โดยที่ครูให้ข้อมูลว่าในตลาดไม่มีกล้วยหอม และได้เปลี่ยนข้อมูลในเอกสารแล้ว และจากการเดินตรวจสอบถาดหลุมนักเรียนรายคน พบว่านักเรียนได้รับเนื้อสัตว์ คือหมูที่ใส่ในผัดซีอิ๊วน้อยมาก บางรายได้เพียงแค่ 1-3 ชิ้น บางรายไม่ได้แม้แต่ชิ้นเดียว เช่นเดียวกับไก่สับในน้ำซุป แต่คณะครูแจ้งว่าสามารถให้นักเรียนไปเติมได้จนกว่าจะอิ่ม ซึ่งมองแล้วว่านักเรียนไม่ได้รับอาหารในเชิงคุณภาพ เนื่องจากมีการปรุงอาหารใส่เนื้อสัตว์มาในจำนวนน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

ผอ.โรงเรียน กล่าวว่า ได้ดำเนินการแบบจ้างเหมา โดยมีคุณครูที่รับผิดชอบในส่วนอาหารกลางวัน และมีคุณครูเวรคอยตรวจสอบคุณภาพอาหารกลางวันในแต่ละวัน ซึ่งคุณครูเหล่านี้จะคิดเมนู โดยเมนูเหล่านี้จะหมุนเวียนไปเรื่อยๆ ให้เด็กได้รับประทานหลากหลาย โดยโรงเรียนจะจัดอาหารกลางวันในทุกๆ วันต้องมีผัก และผลไม้ อีก 1 วัน ก็จะเป็นของหวาน ซึ่งจะใช้โปรแกรมไทยสคูลลั้น (Thai School Lunch) ในการคิดคำนวณปริมาณอาหาร ซึ่งงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาเพียงพอในการจัดอาหารให้กับเด็กนักเรียน

นายยุทธนา วิมลเมือง เจ้าพนักงานป้องกันการทุจริตชำนาญการพิเศษ ป.ป.ช.ตรัง กล่าวว่า จากการลงตรวจสอบสังเกตเบื้องต้นพบว่า นักเรียนบางคนได้รับอาหารในปริมาณที่ไม่ค่อยคุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร เนื่องจากเมนูผัดซีอิ๊ว จะต้องมีเนื้อสัตว์ด้วย แต่บางคนก็มีเพียงแค่เนื้อสัตว์ชิ้นเดียว หรือบางคนก็ไม่ได้เนื้อสัตว์เลยสักชิ้น ก็ต้องกำชับให้คณะครูช่วยให้นักเรียนได้รับสารอาหารให้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร เนื่องจากพ่อครัวหรือคู่สัญญาอาจจะตักอาหารให้ไม่เป็นไปตามปริมาณที่สมควรได้รับ จึงกำชับครูในส่วนการตรวจรับอาหารว่า ให้ควบคุมดูปริมาณและคุณภาพของอาหารให้เด็กได้รับสารอาหารเพียงพอ เป็นไปตามสัญญา ซึ่งเด็กเล็กๆ จะต้องได้กินในเชิงคุณภาพ เด็กโตก็จะต้องได้กินในเชิงปริมาณ ให้เพียงพอในแต่ละวัน

อย่างไรก็ตามทาง ป.ป.ช.ตรัง ได้สุ่มตรวจตามนโยบายอย่างเคร่งครัดมาตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนใหญ่ได้ครอบคลุมทั้ง 10 อำเภอของ จ.ตรัง โดยได้มีการเน้นย้ำและเป็นการป้องกันการทุจริต โดยมุ่งเน้นไปในส่วนของการป้องปราม มีการชี้แนะ ตักเตือน ไปถึงโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้รับอาหารที่มีคุณค่า ทั้งนี้ในบางโรงเรียนที่เคยมีการสุ่มตรวจและพบปัญหาหรือมูลความผิดที่ส่อถึงการทุจริต ก็ได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานนำเรื่องเข้าสู่ขบวนการของการไต่สวนของ ป.ป.ช. แล้วด้วยเช่นเดียวกัน.