รถยนต์ถือเป็นทรัพย์สินของเรา แต่กว่าจะครอบครองได้ไม่ใช่เรื่องง่าย หากใครใช้เงินกู้ ก็ต้องผ่อนชำระค่างวดจนครบวงเงิน ซึ่งระหว่างทางอาจเจอปัญหาติดขัดด้านการเงินบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนลด รายจ่ายมาก ค่าครองชีพสูง ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย และอาจไม่พอกับการชำระหนี้ ที่เชื่อว่ามีหนี้หลายทาง!
หนึ่งในปัญหาใหญ่เวลานี้คือ หนี้รถยนต์ค่อนข้างสูง และกำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย NPL หรือค้างชำระเกิน 90 วันอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้แวดวงธุรกิจไฟแนนซ์รถยนต์คาดการณ์ว่าจะมีรถยนต์มือสอง หรือรถที่โดนยึดออกสู่ตลาดเพิ่มเติ่มมากทีเดียว
คำถามที่เกิดขึ้นคือ ระยะเวลาค้างค่างวดแค่ไหน กี่งวด กี่เดือน ถึงโดนยึดรถ ซึ่งระยะเวลาที่ไฟแนนซ์ หรือสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้รถยนต์ จะมายึดรถยนต์นั้น ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 4 เดือน คือ ระยะเวลาที่ค้างชำระค่างวด 3 เดือน หรือ 90 วัน ซึ่งหลังจากนั้นจะกลายเป็นหนี้เสีย หรือ NPL และรวมกับระยะเวลาติดตามทวงถามหนี้เพิ่มเติมอีก 30 วัน รวมแล้วเป็นเวลา 4 เดือน ที่ผู้ประกอบธุรกิจไฟแนนซ์รถยนต์จะยึดรถของเราไป
หากไม่อยากให้รถยนต์ของเราโดนยึด มีวิธีอยู่ คือ ขอประนอมหนี้กับไฟแนนซ์โดยการติดต่อหาเจรจาพูดคุยในการจ่ายค่างวดรถ เช่น ขอจ่ายค่างวดรถแต่ไม่ใช่จำนวนเต็ม หรือขอเลื่อนหนี้ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้ประวัติการผ่อนชำระค่างวดของคุณเสียไป และมีผลต่อเครดิตของเราในอนาคต
การรีไฟแนนซ์รถยนต์ ก็ถือเป็นวิธีหนึ่งไม่ให้รถของเราโดนยึด และถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดเมื่อผ่อนรถต่อไม่ไหว เพราะการรีไฟแนนซ์จะทำให้ค่างวดของเราลดลงได้บ้าง หรือขอปรับโครงสร้างหนี้ขยายเวลาชำระหนี้ออกไปนานขึ้น ทำให้ค่างวดนั้นเบาลง
รู้หรือไม่! ระหว่างที่โดนทวงหนี้ ไม่ว่าจะติดตามทวงถามหนี้จากบริษัทสินเชื่อ, ติดตามทวงถามหนี้จากจดหมายที่ส่งมาที่บ้าน, ติดตามทวงถามหนี้จากสำนักกฎหมายที่ถูกส่งเรื่องไปแล้ว หรือการฟ้องร้องคดีจนถึงขั้นขึ้นโรงขึ้นศาล จะมีค่าบริการที่ต้องจ่ายด้วย และก่อนที่จะนำรถโดนยึดไปขายทอดตลาด ไฟแนนซ์มักจะโทรฯ แจ้งคุณล่วงหน้า 7 วัน เพื่อให้คุณเปลี่ยนใจมาไถ่คืน แต่หากขายทอดตลาดแล้วยังเหลือติ่งหนี้ หรือเงินที่ขายรถได้ไม่เพียงพอกับหนี้ที่มี คุณก็ต้องจ่ายในส่วนที่เหลือด้วย!
(ที่มา : เงินติดล้อ)