พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (บอร์ดกองทุนดิจิทัล) ครั้งที่ 4/2564 ว่า ที่ประชุม ได้ให้ความเห็นชอบและอนุมัติโครงการหรือกิจกรรมที่ขอรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ซึ่งในปีนี้มีคำขอรับทุนฯ ยื่นเสนอเข้ามา 649 โครงการ มีโครงการที่ไม่ผ่านตามระเบียบคณะกรรมการ ฯ จำนวน 40 โครงการ คงเหลือโครงการที่ต้องพิจารณา 609 โครงการ โดยโครงการหรือกิจกรรมการที่ได้รับการอนุมัติ แบ่งเป็นโครงการหรือกิจกรรมฯ ที่มีวงเงินเกินกว่า 10 ล้านบาท จำนวน 32 โครงการ และโครงการหรือกิจกรรมฯ ที่มีวงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาท จำนวน 14 โครงการ 

ซึ่งได้ให้นโยบาย ในการดำเนินงานสำหรับโครงการหรือกิจกรรมที่ได้รับการสนับสนุนว่า การดำเนินโครงการจะต้องเป็นไปตาม ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนด และสามารถบูรณาการ ระหว่างหน่วยงาน เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะรองประธานกรรมการ กล่าวว่า การเปิดรับการสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 นี้ ได้กำหนดกรอบวงเงินทั้งสิ้น 3,000 ล้านบาท ภายใต้กรอบนโนบาย 6 ด้าน ได้แก่ ด้าน ดิจิทัล แมนเพาว์เวอร์ (Digital Manpower) ด้าน ดิจิทัล เทคโนโลยี (Digital Technology) ด้านดิจิทัล เฮลท์ (Digital Health) ด้าน ดิจิทัล แอกกริคัลเชอร์ (Digital Agriculture) ด้าน ดิจิทัล กัฟเวอร์เม้นท์ แอนด์ อินฟาสทรัคเชอร์ (Digital Government & Infrastructure) และ ด้าน ดิจิทับ อเจนด้า (Digital Agenda)

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพัฒนาดิจิทัลของประเทศที่ครอบคลุมในทุกด้าน ส่งผลให้เกิดการผลักดัน นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพ ชีวิตของประชาชน และลดช่องว่างทางสังคม ช่วยให้เกิดความรู้และทักษะดิจิทัลที่เหมาะสมกับบุคลากรทุกกลุ่ม และพัฒนากระบวนการทำงานและการให้บริการของภาครัฐด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้การปฏิบัติงานเกิดความโปร่งใส มีประสิทธิภาพต่อไป

 อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เห็นชอบ โครงการตามที่ผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ ที่สำคัญ อาทิ โครงการจัดตั้งศูนย์บริการการแพทย์ทางไกลเพื่อขยายการเข้าถึงการบริการประชาชน, โครงการจัดหาระบบและอุปกรณ์ 5G Smart City พื้นที่ EEC, โครงการ Big Data ระบบวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อบริหารพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน, โครงการส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาเว็บไซต์ที่ทุกคนเข้าถึงได้, โครงการพัฒนาประสิทธิภาพการวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล และโครงการดีมีเดีย เป็นต้น

และเห็นชอบโครงการตามมาตรา 26 (6) สำหรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 5G ของประเทศไทยในการต่อยอดการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยี 5G ที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการติดตั้งเทคโนโลยี 5G สำหรับระบบบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ 2. โครงการนำร่องเกษตรดิจิทัล เพื่อการพัฒนาระบบส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสาหร่ายผมนางและปลากะพงขาวในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา 3. โครงการนำร่องการพัฒนาด้านเทคโนโลยี 5G ต้นแบบสำหรับให้บริการประชาชน จ.เชียงใหม่ และ 4.โครงการ 5G เพื่อการคัดกรองและแจ้งเตือนสำหรับ เตรียมความพร้อมการเปิด เศรษฐกิจท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต