เผยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินอัดฉีดของกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ให้กับนักกีฬาทีมชาติไทย ที่ได้รับเหรียญรางวัลจากการเข้าร่วมการแข่งขันมหกรรมกีฬานานาชาติ โดยกีฬาโอลิมปิกเกมส์ นักกีฬาสามารถตัดสินใจเลือกได้ใน 2 เงื่อนไข คือ เงื่อนไขที่ 1 จ่ายเป็นเงินก้อนอัตรา 50% ส่วนอีก 50% แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี เพื่อช่วยให้นักกีฬาสามารถจัดสรรรายได้ในระยะยาว เหรียญทอง ได้รับ 12 ล้านบาท เหรียญเงิน 7.2 ล้านบาท เหรียญทองแดง 4.8 ล้านบาท ส่วนเงื่อนไขที่ 2 จะจ่ายเป็นเงินก้อนทั้งหมดในครั้งเดียว ในอัตราที่ลดลงมา คือ เหรียญทอง 10 ล้านบาท เหรียญเงิน 6 ล้านบาท เหรียญทองแดง 4 ล้านบาท

ขณะที่ กีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ก็มี 2 เงื่อนไข เช่นกัน เงื่อนไขที่ 1 จ่ายเป็นเงินก้อนอัตรา 50% ส่วนอีก 50% แบ่งจ่ายเป็นรายเดือนในระยะเวลา 4 ปี เหรียญทอง จะได้รับ 7.2 ล้านบาท เหรียญเงิน 4.8 ล้านบาท เหรียญทองแดง 3 ล้านบาท และเงื่อนไขที่ 2 จะจ่ายเป็นเงินก้อนทั้งหมดในครั้งเดียว ในอัตราที่ลดลงมา คือ เหรียญทอง ได้รับ 6 ล้านบาท เหรียญเงิน 4 ล้าน บาท เหรียญทองแดง 2.5 ล้านบาท ทั้งนี้ นักกีฬาที่ได้เหรียญรางวัลมีสิทธิเลือกรับเงินรางวัลอย่างใดอย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ยังมีเงินอัดฉีดที่จะต้องจ่ายให้กับสมาคมกีฬาต้นสังกัด รวมทั้งผู้ฝึกสอน ซึ่งมีเงื่อนไขและรายละเอียดที่แตกต่างกันไปอีกด้วย

สำหรับ โอลิมปิกเกมส์ 2020 นั้น นักกีฬาไทย คว้ามาได้ 1 เหรียญทอง จาก “น้องเทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เทควันโด รุ่น 49 กก.หญิง และ 1 เหรียญทองแดง จาก “น้องแต้ว” สุดาพร สีสอนดี มวยสากลสมัครเล่น รุ่น 60 กก.หญิง สรุปรวมเงินรางวัลที่ “กองทุนกีฬา” จะต้องจ่ายทั้งหมด 23.8 ล้านบาท

ส่วน พาราลิมปิกเกมส์ 2020 ทีมพาราไทย ช่วยกันคว้ามาได้ 5 เหรียญทอง 5 เหรียญเงิน 8 เหรียญทองแดง โดย “กร” พงศกร แปยอ นักวีลแชร์เรซซิ่ง เหมาคนเดียว 3 เหรียญทอง คาดว่าจะได้รับเงินอัดฉีดประมาณ 21.6 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อรวมยอดเงินจากนักกีฬาคนอื่นๆ แล้ว “กองทุนกีฬา” จะต้องจ่ายเป็นเงินทั้งสิ้น 145.7 ล้านบาท

สรุปรวมทั้ง 2 มหกรรมกีฬา ยอดเงินอัดฉีดของนักกีฬาไทยที่จะได้รับจาก “กองทุนกีฬา” เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 169.5 ล้านบาท