นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มพลาสติก ส.อ.ท.  , ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เช่น สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย เตรียมหารือวางแนวทางแก้ปัญหาขยะติดเชื้อภายในบ้านที่อยู่อาศัย อาคารคอนโดมิเนียม หอพักร่วมกันในวันที่ 6 ก.ย.นี้ เนื่องจากขณะนี้ปริมาณขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก หลังจากที่รัฐกำหนดให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่ไม่รุนแรงกักตัวที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชั่น แต่การบริหารจัดการขยะติดเชื้อ ยังขาดประสิทธิภาพ ไม่เร่งแก้ปัญหาจะยิ่งสร้างปัญหาทั้งการติดเชื้อเพิ่มขึ้น และปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้

ทั้งนี้เบื้องต้นจะขอความร่วมมือให้หมู่บ้านจัดสรร นิติบุคคล จัดหาถังแดงมาวางไว้ เพื่อให้ลูกบ้านมาทิ้งขยะติดเชื้อแล้วประสานรถกทม.มารับไปกำจัดแบบวันต่อวัน หรือมากสุด 2 วันครั้ง จากปัจจุบันรถขยะกทม. จะบริการรับขยะติดเชื้ออยู่แล้ว แต่ขาดการเชื่อมต่อกัน โดยจะนำร่องในพื้นที่กทม.ก่อน  ซึ่งจะหารือในรายละเอียดอีกครั้งว่า แต่ละหน่วยงานมีข้อเสนออย่างไร เพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่จะทำให้เกิดขึ้นได้จริง และหากเป็นไปได้ต้องมองภาพปัญหาขยะติดเชื้อรวมทั้งประเทศด้วย โดยก่อนหน้านี้รัฐ และผู้พัฒนาอสังหาฯ ได้เห็นพ้องต้องกันว่า จะปรับปรุงกฎหมายอาคารชุดที่ต่อไป จะต้องไม่สร้างปล่องรับขยะจากด้านบน แต่ให้ลูกบ้านเดินลงมาทิ้งขยะด้านล่างเอง ให้แยกถังขยะแต่ละประเภทให้ชัดเจน แต่เกิดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ก่อนทำให้แนวทางดังกล่าวยังไม่ได้คืบหน้า

“ โควิด-19 รอบแรกนั้นขยะติดเชื้อไม่มีปัญหาเพราะโรงพยาบาลสามารถจัดการตามระบบได้อยู่แล้วเพราะเตียงยังเพียงพอรับผู้ป่วยเข้ารับรักษาได้ ระลอก 2 ก็เริ่มมีปัญหามากขึ้นโดยเฉพาะหน้ากากอนามัย ที่คนต้องใช้สูงเริ่มก่อปัญหาขยะเล็ดลอดหลุดไปตามแหล่งน้ำธรรมชาติรบกวนสัตว์น้ำ แต่ระลอก 3 นี้เกิดโฮมไอโซเลชั่น เพราะโรงพยาบาลไม่พอ ไม่เพียงแค่หน้ากากอนามัย แต่ยังมีชุดตรวจโควิด-19เร่งด่วน เป็นขยะติดเชื้อที่ถูกทิ้งเพิ่มขึ้น หากจัดการไม่ดีจะสร้างปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและการติดเชื้อเพิ่มได้ และตอนนี้ขยะติดเชื้อไม่เพียงมีมากขึ้น เพราะโควิด-19 แต่ขยะพลาสติกเองก็เช่นกันเพราะการอยู่บ้านทำให้คนไทยหันมาใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ ใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกเป็นส่วนใหญ่ แนวโน้มปัญหาขยะของไทยจะมีมากขึ้นหากไม่เร่งจัดการจะกลายเป็นปัญหาที่แก้ไขยากขึ้น  ดังนั้นการคัดแยกขยะเพื่อกำจัดถูกวิธีคือคำตอบที่ดีสุด  ”

อย่างไรก็ตามขยะติดเชื้อจำเป็นต้องนำกำจัดด้วยวิธีการเผาเท่านั้น และที่ผ่านมาขยะดังกล่าวจะอยู่ในโรงพยาบาลที่มีระบบกำจัดรองรับไว้แล้วเป็นหลัก แต่เมื่อมีโควิด-19 ทำให้ขยะเหล่านี้กลายมาอยู่ในภาคบ้านที่อยู่อาศัยมากขึ้นแต่ปัจจุบันการคัดแยกขยะยังจัดการไม่ได้ผลนักเพราะแม้บางบ้านจะใส่หน้ากาก และชุดตรวจเอทีเค ในถุงแดง แต่สุดท้าย จะไปกองรวมกันในถังขยะทั่วไปกลายเป็นขยะปกติที่จะไปกองรวมในหลุมฝังกลบกทม. ซึ่งมีโอกาสเล็ดลอดไปสู่สิ่งแวดล้อมภายนอกสูง  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  ล่าสุดกรมอนามัย ออกมาระบุปริมาณมูลฝอยติดเชื้อช่วงม.ค.-มิ.ย.ที่ผ่านมารวม  31,709 ตัน เฉพาะมิ.ย.พบปริมาณมูลฝอยติดเชื้อสูงที่สุดเฉลี่ย 210 ตันต่อวัน คาดว่า เป็นผลจากนโยบายแยกกักตัวที่บ้าน และการแยกกักตัวในชุมชน อาจทำให้ขยะมูลฝอย และมูลฝอยติดเชื้อจากครัวเรือนมากขึ้น ทั้งที่ปนเปื้อนน้ำมูก น้ำลาย หรือสารคัดหลั่ง เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษทิชชู และภาชนะใส่อาหารพร้อมบริโภคแบบใช้ครั้งเดียว