ผ่านการเลือกตั้งมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์กับชัยชนะของ “พรรคก้าวไกล” ในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ร่วมกับพรรคการเมืองอื่นๆ รวม 8 พรรค 312 เสียง ที่ยังคงไม่ชัดเจนว่าจะหาเสียงสนับสนุนให้ได้ 376 เสียง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จสมประสงค์หรือไม่

อาจเป็นรูปภาพของ 2 คน และ ห้องข่าว

ท่ามกลางมรสุมปมหุ้นสื่อของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ซึ่งล่าสุดเลยเถิดไปถึงขั้นที่ “วิษณุ เครืองาม”รองนายกรัฐมนตรี ออกมาชี้ช่องคำร้องคดีหุ้นสื่อของหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่อาจส่งผลให้ต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมทั้งประเทศ ซึ่งเอ็มโอยูตั้งรัฐบาลของ 8 พรรคจะแท้งก่อน หรือเดินหน้าไปต่อไปแต่ถูกสอยหลังจากนั้น และส้มอาจจะหล่นตกไปอยู่ในมือของขั้วอำนาจเดิมคือรักษาการรัฐบาลที่นำโดย “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

เมื่อเส้นทางในการจัดตั้งรัฐบาลเต็มไปด้วยขวากหนาม เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบไว้เพื่อให้อีกฝ่ายอยู่ยาว ควบคู่กับการประสานขอเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ และขอแรงสนับสนุนจาก ส.ว. ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมาจึงได้เห็น “พิธา” นำทีมแกนนำพรรคก้าวไกล เดินสายพบปะภาคเอกชน ภาคธุรกิจ และประชาสังคมต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่สภาอุตสาหกรรม กลุ่มสหภาพแรงงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ 3 สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

อาจเป็นรูปภาพของ 4 คน

การเดินสายพบองค์กรต่างๆ ในมุมหนึ่งคือเพื่อชี้แจงแนวนโยบาย และตัวบุคคลที่จะมานำทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลก้าวไกล คือ “ศิริกัญญา ตันสกุล” รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่พรรคเปิดตัวเป็น รมว.คลัง ชัดเจน แต่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงพรรษาการทำงานอย่างรุนแรง จึงต้องเร่งชี้แจงในประเด็นเหล่านี้ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจัดตั้งรัฐบาลอย่างมาก ขณะที่อีกมุมหนึ่งคือการเดินสายสร้างมวลชนนอกสภาเพิ่มเติมจากกลุ่มแฟนคลับเยาวชนคนหนุ่มสาวที่พร้อมบวกทุกวาระ รวมถึงการชิงพื้นที่ข่าวบนหน้าสื่อ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ก้าวย่างนี้ของก้าวไกล ถือว่านำมาซึ่งความหวาดระแวงต่อเสถียรภาพทางการเมืองของขั้วอำนาจเก่าได้เอาการ จน “บิ๊กตู่” และบรรดาลูกหาบต้องออกมาว้ากใส่หลายครั้งว่า อย่าล้ำเส้น อย่าล้วงลูกการบริหารงานราชการ ขณะที่ แกนนำพรรคก้าวไกลตอบโต้ว่าไม่ได้ล้วงลูกข้าราชการ เพราะที่ผ่านมาเดินสายพบภาคเอกชนเป็นหลัก

อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน และ ห้องข่าว

นอกจากนี้ยังมีการตั้ง “คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” จาก 8 พรรค ที่มี “พิธา” นั่งเป็นประธานคณะกรรมการฯ พร้อมจะมีการตั้งคณะทำงานให้ครบ 23 ข้อตามเอ็มโอยู สำหรับเตรียมการทำงานในรัฐบาลใหม่อย่างไร้รอยต่อ โดยจัดประชุมในวันอังคารชนกับการประชุม ครม.รักษาการจัง ๆ จนถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็น ครม.เงา ซึ่งนัดถัดไปจะมีการประชุมในวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ที่พรรคเพื่อไทย

สุดท้ายแม้การเลือกตั้งจะได้ผู้ชนะแล้ว แต่สำหรับการเมืองไทยก็ยังคงมีเรื่องให้ต้องลุ้นกันต่อไปว่าเสียงของประชาชนจะมีความหมายหรือไม่ ระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ใครจะครองเก้าอี้ทำเนียบรัฐบาล