เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ร่วมกับชาวชุมชนรัชดา 64-66 ยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาอีไอเอ ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) ต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนรายงานอีไอเอ โครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียมสูง และมีความยาวมากกว่า 303.5 เมตร ของบริษัทเอกชนชื่อดัง ทำให้บังแดด-บังลมของชาวบ้านข้างเคียง โดยคู่ความทั้งสองฝ่าย นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับตัวแทนชาวชุมชนรัชดา 64-66 ผู้แทน คชก.กทม. และผู้แทนเจ้าของโครงการเข้าร่วมฟังการอ่านคำพิพากษา

นายศรีสุรรณ เผยภายหลังเข้าฟังคำพิพากษาว่า ศาลมีคำพิพากษา ให้เพิกถอนรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ โครงการดังกล่าวแล้ว เนื่องจาก คชก.กทม. ใช้อำนาจขยายระยะเวลาของการให้ความเห็นชอบรายงานอีไอเอ ของบริษัทนี้ออกไปเกินกว่าระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ อีกทั้งเนื้อหาในการจัดทำรายงานไม่เป็นไปตามหลักวิชาการและข้อเท็จจริง โดยเฉพาะปัญหาการบังทิศทางลมและแสงแดดที่จะมีผลกระทบต่อบ้านเรือนข้างเคียงที่ไม่อาจแก้ไขได้

ก่อนหน้านี้ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อ 26 ธ.ค. 65 ให้การคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้แก่ชาวบ้านย่านรัชดาภิเษก ซอย 64-66 ชุมชนประชานุกูล เขตบางซื่อ ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหาย อันเนื่องมาจากการก่อสร้างโครงการจะทำให้บังแดด-บังลมของชาวบ้านข้างเคียง โดยศาลชี้ว่า คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เร่งรีบให้ความเห็นชอบรายงานอีไอเอไป ทั้งที่ข้อมูลยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์และเป็นนิมิตใหม่ของศาลปกครอง ที่ให้ความสำคัญต่อการก่อสร้างตึกสูงที่มักบังแดด-บังลม ที่จะทำให้ชาวบ้านจะต้องทนทุกข์ทรมานกันชั่วกัลปาวสาน

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า คำพิพากษาในคดีนี้เป็นเรื่องใหม่และสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ถูกผู้ประกอบการเรียลเอสเตทจำนวนมากเข้ามาก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ชุมชนหรือบ้านข้างเคียง ทำให้ชาวบ้านที่เคยมีวิถีชีวิตที่ปกติสุข ต้องมาเดือดร้อนจากปัญหาอาคารบังลม-บังแดด ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป โดยที่ผู้ประกอบการต่างๆ ไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ เมื่อขายโครงการหมดแล้ว รับผลประโยชน์ไปหมดแล้วก็ทิ้งภาระไว้ให้กับนิติบุคคลที่จะเกิดขึ้นมารับช่วงปัญหาต่อไป

“ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างอาคารสูงในพื้นที่ชุมชน คือ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณาอีไอเอ ด้านอาคาร การจัดสรรที่ดินและบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) นั่นเอง มักเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นหลัก ทั้งๆที่มีอำนาจที่จะไม่เห็นชอบโครงการอาคารสูงใดๆ ที่มีชาวบ้านคัดค้านเพื่อยุติปัญหาเสียตั้งแต่ต้น แต่กลับไม่ทำ ดังนั้น เพื่อเป็นการตรวจสอบการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องของ คชก.กทม. ทางสมาคมฯ จะนำคำพิพากษาไปเป็นหลักฐานยื่นร้องให้ ป.ป.ช.ทำการไต่สวน สอบสวนเอาผิด คชก.กทม. ที่ยกมือเห็นชอบโครงการฯดังกล่าวต่อไป” นายสรีสุวรรณ กล่าว.