เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ทำการสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย อ.เปือยน้อย จ.ขอนแก่น นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธานประชุมคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีชาวบ้านที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยเดือดร้อน เพราะถอนเงินจากสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยไม่ได้ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดขอนแก่น เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ นายอำเภอ ผกก.สภ.เปือยน้อย และสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น รวมถึงประธานบริหารสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย และผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ ประชาชนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ที่ได้รับความเดือดร้อน ร่วมประชุม

โดยทันทีที่ นายชาญชัย เข้ามาในห้องประชุมด้วยสีหน้าเคร่งเครียด ก่อนจะหันไปพูดคุยกับทางเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานที่พร้อมกันภายในห้องประชุม ทั้งยังตำหนิผู้จัดการและประธานสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยที่ร่วมประชุมในวันนี้ด้วย โดยได้ถามถึงการทำงานว่าทำอะไรอยู่ ถึงปล่อยให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนระยะเวลาเป็นปี แต่ไม่ทำอะไรเลยจนเหตุการณ์ลุกลาม อีกทั้งยังบอกอีกว่า ไม่เชื่อว่าจะสามารถทำคนเดียวได้โดยที่ผู้บริหารไม่ทราบ

พร้อมทั้งกล่าวกลางที่ประชุมด้วยน้ำเสียงเข้มว่า เรื่องนี้ตนเองในฐานะที่ทำงานร่วมกับ ผวจ.ขอนแก่น มานาน ไม่ชอบที่จะให้มีเรื่องผิดกฎหมายบนความทุกข์ของชาวบ้าน จะไม่ปล่อยให้เรื่องเงียบและจะติดตามความคืบหน้า และจะปิดฉากละครปาหี่นี้โดยเร็ว พร้อมสาปแช่งผู้ที่เอาเงินในบัญชีของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยไป ขอให้ครอบครัวฉิบหาย ซึ่งหลังจากที่รองผู้ว่าฯ พูดจบประโยค ชาวบ้านที่มาร่วมรับฟังนับร้อยคนในห้องประชุม ต่างปรบมือชื่นชอบในคำพูดของรอง ผวจ.ขอนแก่น อย่างมาก

นายสมศักดิ์ แก้วอาสา ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย กล่าวว่า หลังเกิดเรื่องได้ดำเนินการหาแนวทางมาแก้ไขปัญหาให้ประชาชน โดยยึดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ สหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย 4 แนวทาง ขอยื่นกู้เงินทุนจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งทางสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยเอง ปัจจุบันมีสินทรัพย์ ซึ่งนำไปจำนองกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งหากยื่นกู้ผ่าน ก็จะสามารถมีเงิน 28 ล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อจำนวนเงินที่ถูกยักยอกไป แต่จะต้องรอระยะเวลาในการอนุมัติ 1 เดือน แนวทางที่ 2 คือกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ซึ่งสามารถกู้เงินได้ในวงเงิน 5,000,000 บาทต่อหนึ่งสัญญา โดยมีระยะเวลาพิจารณาประมาณสองเดือน ในการอนุมัติวงเงินกู้

“สหกรณ์บริหารลูกหนี้สหกรณ์ให้เป็นปัจจุบัน โดยทำการเร่งรัดเงินกู้จากลูกหนี้ภายใต้กรอบสัญญา หากลูกหนี้จ่ายไม่ตรงตามสัญญาที่ระบุ ก็อาจจะมีการฟ้องแพ่ง เพื่อเอาเงินมาชดใช้ให้กับสมาชิกทั้งหมดที่ได้รับความเสียหาย โดยมีระยะเวลาในการดำเนินการประมาณ 90 วัน และหลังจาก 90 วัน ก็จะรอศาลพิจารณาตัดสินตามขั้นตอน และสั่งจ่ายเงินให้กับสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย และแนวทางที่ 4 สหกรณ์มีทรัพย์สินเป็นที่ดินหลายแปลง จะนำขาย เพื่อนำเงินมาคืนให้ประชาชน และที่ล่าช้า เพราะยังไม่มีเวลาจัดการ เพราะหลังทราบเรื่อง ต้องทำหลายหน้าที่ และต้องรวบรวมเอกสาร หลักฐานต่างๆ เข้าแจ้งความด้วย แต่ขอยืนยันว่าจะนำเงินมาคืนให้ประชาชนทุกราย”

ด้านนายณัฐพล แป้นนอก สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า สหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย เป็นนิติบุคคลที่มีนายทะเบียนเป็นเทศบาลตำบลเปือยน้อย แต่สหกรณ์จังหวัดขอนแก่น เป็นหน่วยงานราชการที่เข้ามากำกับดูแลการบริหารจัดการ ซึ่งเมื่อเกิดเรื่อง ก็จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการของสหกรณ์เป็นนิติบุคคล ปัจจุบันมีประธานและคณะกรรมการรวม 13 คน มีสมาชิกทั้ง 1,800 คน

“ในการตรวจสอบนั้น หลังจากทราบเรื่องได้ลงพื้นที่มาตรงจสอบ พร้อมตั้งคณะทีมตรงจสอบ ร่วมกันกับสำนักงานตรวจบัญชี โดยจะสรุปข้อมูลการทำงานในวันที่ 25 พ.ค. นี้ ก็จะได้รู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการของสหกรณ์เปือยน้อย ทั้งข้อมูลเงินฝาก เงินกู้ เงินหุ้น เงินฌาปนกิจ สำหรับในส่วนของผู้ที่กระทำความผิด หรือคนที่ทำให้เกิดความเสียหาย เมื่อวานนี้ วันที่ 23 พ.ค. ประธานสหกรณ์ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์แล้วกับพนักงานสอบสวน สภ.เปือยน้อย เพื่อดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รายดังกล่าวแล้ว

เบื้องต้นด้วยเอกสารหลักฐานต่างๆ พบความผิดและการก่อเหตุเพียงคนเดียว และสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะเร่งดำเนินการให้เกิดความกระจ่างโดยเร็ว ในส่วนที่ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อย บอก 4 แนวทางที่จะทำการกู้เงิน เพื่อนำเงินมาคืนให้กับสมาชิกได้ภายใน 60 วันนั้น ขณะนี้ ทั้ง 4 แนวทางยังไม่มีการดำเนินการ จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่า จะได้เงินมาคืนให้สมาชิกได้ตอนไหน เพราะยังไม่มีการดำเนินการ จึงยังไม่ได้รับการอนุมัติจากแหล่งเงินใดๆ”

ขณะที่นายกุล ภาคเดียว ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า การที่ ป.ป.ช. เข้ามาร่วมประชุมและลงพื้นที่มารับฟังปัญหาจากประชาชน ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถอนเงินจากสหกรณ์การเกษตรเปือยน้อยไม่ได้ เพราะเนื่องจากมีประชาชน ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ของ ป.ป.ช. รวมถึงเดินทางเข้าร้องเรียนด้วยตนเองที่ สำนักงาน ป.ป.ช.ขอนแก่น ว่าให้ ป.ป.ช. ลงพื้นที่ ตรวจสอบการทุจริตเงินฝากของประชาชนไปกว่า 20 ล้าน จึงเดินทางมารับทราบปัญหา ซึ่งในกรณีดังกล่าวนี้ จากการทราบรายละเอียดจากชาวบ้าน และคณะทำงานแล้ว เกี่ยวข้องทั้งคดีอาญาและแพ่ง ฉะนั้นประธานสหกรณ์และผู้จัดการสหกรณ์ และคณะกรรมการทุกคน ต้องให้คำตอบกับคณะทำงานให้ได้ว่า เงินหายไปไหน และจะคืนเงินให้ชาวบ้านได้เมื่อใด ทุกขั้นตอน สหกรณ์ต้องโปร่งใส ชัดเจน

อย่างไรก็ตามภายหลังการประชุมร่วม 4 ชั่วโมง นายชาญชัย ศรศรีวิชัย รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวว่า วันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการประชุมหารือทั่วไป แต่เป็นการกำหนดแนวทางในการดำเนินการของหน่วยงานต่างๆ เพื่อหาข้อเท็จจริงว่าความเสียหายอยู่ที่ไหน สาเหตุคืออะไร ใครทำ ซึ่งขณะนี้ทางสหกรณ์จังหวัดและสำนักงานตรวจสอบบัญชีได้ลงพื้นที่มา และแบ่งทีมตรวจสอบความเสียหายใน 3 ประเภท คือเงินที่ถอนไม่ได้ หายไปไหน ใครเอาไป เงินกู้กรณีไม่มีหนี้ แต่มีชื่อเป็นหนี้ รวมถึงเงินหุ้น ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนทั้งหมด เพื่อเอาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมายทั้งหมด ในส่วนของประชาชนนั้น เรากำหนดแนวทางไว้ว่า ให้ทางประชาชนเข้าไปดำเนินการแจ้งความทันทีในฐานะผู้เสียหาย โดยได้มอบหมายให้ทางตำรวจและทางนายอำเภอ เป็นผู้ประสานงานดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้เข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายโดยเร็วที่สุด เพื่อให้สมาชิกได้รับการเยียวยาโดยเร็ว และทุกคนที่เป็นสมาชิกและได้รับความเสียหาย ต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ บอกต่อกันให้เข้าแจ้งความทั้งหมดโดยเร็ว

“สหกรณ์ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และทุกเรื่องจะต้องชี้แจงได้ ทั้งเรื่องทรัพย์สินหาย ตัวเลขในบัญชีหาย หายได้อย่างไร หายไปไหน ผู้รับผิดมีคนเดียว แต่การสืบสวนสอบสวนน่าเชื่อว่า ไม่สามารถดำเนินการคนเดียวได้ เกิดเหตุมาเป็นปี ทำไมไม่ทำอะไร ผู้บริหารทำอะไรอยู่ ต้องชี้แจงสังคมได้ ไม่ใช่ปล่อยพี่น้องประชาชนมาประท้วงกันเยอะๆ ทั้งที่ประชาชนก็ไม่ผิด และไม่ได้เป็นการประท้วง แต่เป็นการทวงถามสิทธิของสมาชิก เพราะเขาเดือดร้อนและไม่กล้ามาคนเดียว อีกทั้งอธิบายให้ประชาชนฟังก็กำกวม ชาวบ้านงงไม่เข้าใจก็กลับไป ในเรื่องนี้ ผู้บริหารสหกรณ์ที่ยุ่งเกี่ยวกับการกระทำความผิด จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมดและสหกรณ์จะต้องชี้แจงต่อสังคมได้”

รอง ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของจังหวัดนั้น ได้มีการประสานงานร่วมกันหลายภาคส่วนในการตรวจสอบ เพื่อดำเนินการเอาผิดในข้อกฎหมายสูงสุด สำหรับผู้ที่กระทำความผิดทั้งหมด โดยไม่มีละเว้น จะต้องมีการขยายผลเกี่ยวกับทรัพย์ว่าไปอยู่ที่ไหน เชื่อมโยงใครบ้าง ซึ่งจังหวัดจะมีการประสานเจ้าหน้าที่ ปปง. ร่วมในการตรวจสอบด้วย เพื่อเร่งในการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนได้เร็วที่สุด ในการตรวจสอบนั้น ทางจังหวัดจะทำควบคู่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสหกรณ์จังหวัด สำนักตรวจสอบบัญชีสหกรณ์ แม้จะตั้งกำหนดระยะเวลาตรวจสอบเบื้องต้นถึงวันที่ 25 พ.ค. แต่ในส่วนนี้ จะยังไม่หยุดการรับข้อมูลหลักฐานเท่านี้ จะยังคงรับข้อมูลหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดให้ได้มากที่สุด เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายลงโทษสูงสุด ในฐานความผิดทุกฐานที่เกี่ยวข้อง