เมื่อเวลา 17.00 น. วันที่ 23 พ.ค. ที่ สโมสรตำรวจ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ธันย์นิชาเอก สุวรรณวัฒน์ หรือ ทนายพัช ทนายความของนางสรารัตน์ หรือ แอม รังสิวุฒาภรณ์ ผู้ต้องหาในคดีวางยาฆ่าชิงทรัพย์ หลังเจ้าตัวออกมาระบุว่า เตรียมที่จะฟ้องตำรวจในความผิด ม.157 จำนวน 3 ราย ว่า ขณะนี้ตนยังไม่ทราบเรื่อง แต่สิทธิในการฟ้องมีทุกคน อย่างไรก็ตาม ตำรวจทำงานตามพยานหลักฐาน ไม่ได้ทำงานตามกระแสของสังคม เมื่อพยานหลักฐานเพียงพอ ก็ขออนุมัติหมายจับ ซึ่งศาลท่านก็พิจารณาตามเหตุผลและพยานหลักฐาน ซึ่งการที่ศาลให้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา ไม่ใช่การไม่เห็นด้วยกับพยานหลักฐาน แต่เป็นเรื่องของการแจ้งความผิดเดียวกับรองอ๊อฟ อดีตสามีแอม ที่ไม่ได้ถูกออกหมายจับ ศาลจึงพิจารณาให้ออกเป็นหมายเรียกแทน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า เมื่อวานนี้ (22 พ.ค.) ทนายพัชได้มีการติดต่อขอมอบตัว ที่กองบังคับการปราบปราม ในเวลา 19.00 น. แต่ก็ไม่มาตามที่แจ้ง ซึ่งการติดต่อขอมอบตัวเป็นเรื่องที่เจ้าตัวติดต่อเอง เมื่อเจ้าตัวไม่มา ตำรวจก็จะออกหมายเรียกดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่ทนายพัชจะฟ้องเอาผิดตำรวจ ม.157 จะกระทบต่อคดีที่จะแจ้งข้อหาหรือไม่นั้น ตนยืนยันว่าไม่กระทบ ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย และมีหน้าที่รักษาความเป็นธรรม สืบสวนสอบสวนจับกุมผู้ร้าย ซึ่งการทำหน้าที่ดังกล่าว ก็สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องดำเนินคดีอยู่แล้ว ตำรวจแค่ต้องตอบให้ได้ และพิสูจน์ว่าเป็นการดำเนินการตามพยานหลักฐาน ซึ่งหากปฏิบัติตามกฎหมาย กฎหมายก็จะเป็นกรอบคุ้มครองตัวเราเอง ซึ่งการที่ทนายพัชฟ้องตำรวจในลักษณะเชิงแก้เกี้ยว จะไม่ทำให้ตำรวจเกิดอคติในการทำคดีอย่างแน่นอน
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากทนายพัชมามอบตัวกับพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก การจะให้หรือไม่ให้ประกันตัวนั้น ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของพนักงานสอบสวน และมีหลักเกณฑ์อยู่แล้วตามกรอบของกฎหมาย ซึ่งตามกฎหมายนั้น พนักงานสอบสวนสามารถขอหมายขังได้ ตาม ป.วิอาญา 134 หรือไม่ขอหมายขังก็ได้
ส่วนการเข้าพูดคุยกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในวันพรุ่งนี้ (24 พ.ค.) พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ระบุว่า จะเข้าไปพูดคุยในเรื่องของข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ รวมถึงจะพิจารณาในส่วนของการกระทำความผิดของโรงงาน ที่ปล่อยปละละเลยให้มีการนำสารไซยาไนด์ไปจำหน่าย เพื่อเตรียมที่จะดำเนินคดีต่อโรงงานและเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งขณะนี้ทางตำรวจมีข้อมูลโรงงานที่นำไปขายแล้ว แต่ต้องมีการพูดคุยกับเจ้าของพระราชบัญญัติว่า การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายความผิดอะไร หากเข้าข่ายการกระทำความผิด ทางตำรวจจะทำรายงานการสอบสวน และให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้กล่าวหา ในฐานะเจ้าของ พ.ร.บ. ซึ่งกรณีนี้จะแยกเป็นคดีใหม่อีก 1 คดีต่อไป