หลักสูตร KU-VIPS รุ่นที่ 1 ในการบรรยายครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2566 เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์กับ ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC โดย ดร.ชญาน์ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “ผู้นำภาคเอกชนกับความรับผิดชอบต่อสังคมและการบริหารจัดการองค์กรอย่างยั่งยืน”

ผู้เขียนขออนุญาตสรุปประเด็นน่าสนใจกรณีศึกษาการบริหารจัดการองค์กรอย่างยั่งยืนของ GC ดังนี้

1. แนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจสมัยใหม่มุ่งไปสู่ Sustainable Development ที่ชัดเจนมากขึ้น นับตั้งแต่หลังวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ (Hamberger Crisis) เมื่อปี 2008 โดยแนวคิด Green Economy ถูกนำมาขับเคลื่อนต่อยอดจนขยายผลมาสู่ประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ UN และ BCG Economy ซึ่งประกอบด้วย Bio Economy, Circular Economy และ Green Economy

2. ขณะเดียวกัน Keyword ของการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจยุคใหม่มุ่งสู่ความยั่งยืน คือ การนำแนวคิด ESG (Environmental Social และ Governance) มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม…แน่นอนว่าผู้นำทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งภาคประชาสังคมต่างพูดถึงเรื่องนี้บ่อยขึ้น จนกลายเป็น Mainstream ของการพัฒนาเศรษฐกิจและธุรกิจในยุคที่เต็มไปด้วยความผันผวน เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่แน่นอน คาดการณ์ได้ยาก หรือที่เราเรียก BANI world (มาจาก Brittle, Anxious, Non-linear และ Incomprehensible)

3. ดร.ชญาน์ กล่าวถึงแนวโน้มความยั่งยืนในบริบทโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายหลายเรื่อง ซึ่งจำแนกออกตามมิติทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และกลไกการบริหารจัดการที่ดี หรือ บรรษัทภิบาล

4. มิติสิ่งแวดล้อม…ความท้าทายของทุกภาคส่วน คือ สภาวะโลกรวน (Climate Change) การถลุงใช้ทรัพยากร (Resource depletion) มลภาวะขยะ (Waste Pollution) และการใช้น้ำ (Water use) ทั้งหมดนี้เป็นประเด็นความท้าทายที่ทุกภาคส่วนล้วนได้รับผลกระทบและต้องมีส่วนร่วมกันรับผิดชอบ

5. แนวทางที่ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดการปัญหาเหล่านี้มีตั้งแต่ระดับสากล ระดับชาติ ภาครัฐ ระดับธุรกิจ ระดับชุมชน เช่น รัฐนำเครื่องมือใหม่ ๆ ทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาช่วยเพิ่มแรงจูงใจในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นผ่านการผลิต การบริโภคที่เน้นความยั่งยืน เช่น รัฐบาลโจ ไบเดน เพิ่งผ่านกฎหมาย Inflation Reduction Act (IRA) ที่เน้นให้ธุรกิจได้รับแรงจูงใจในการลงทุนทาง Clean tech มากขึ้น

6. การจัดการธุรกิจยั่งยืนนั้นสนับสนุน Circular economy เศรษฐกิจหมุนเวียนโดยเฉพาะการจัดการขยะพลาสติกที่มีประสิทธิภาพ นอกจากจะลดเรื่อง Global warming ยังนำไปมุ่งสู่ Net Zero emission แล้ว รวมถึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการ Recycling ได้

7. ปัจจุบันกระแส BCG Economy และการขับเคลื่อน ESG นั้นเป็นไปอย่างมีทิศทางชัดเจน ประเทศในกลุ่ม EU ส่วนใหญ่ออกกฎหมาย ระเบียบต่างๆ มารองรับเรื่องเหล่านี้ เช่น รัฐสภาเยอรมนีออกกฎหมาย Climate Protection Act ปี 2019 กลุ่ม EU ออกแผน New Circular Economy Action Plan ช่วงการระบาด Covid-19

8. ดร.ชญาน์ ชี้ให้เห็นว่าการขับเคลื่อนธุรกิจโดยเน้น ESG นั้น ธุรกิจสามารถลดความเสี่ยงได้เช่นเดียวกับการสร้างเสน่ห์ แรงจูงใจให้แหล่งทุนต่างๆ เช่น นักลงทุนทั่วโลกเริ่มสนใจกับธุรกิจสไตล์ยั่งยืนมากขึ้นจึงให้ความสำคัญกับเรื่อง Green finance เช่นเดียวกัน หน่วยกำกับดูแล Regulator มุ่งหวังให้ภาคธุรกิจเป็นส่วนสำคัญที่ตอบโจทย์ร่วมกับภาครัฐ เช่น เห็นเป้าหมาย Net Zero emission ร่วมกัน ทั้งนี้ นอกจากลดความเสี่ยงแล้ว…ESG ยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ เสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวได้

9. แม้ว่าทุกฝ่ายทราบดีว่า ESG มีความสำคัญต่อการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ทำให้ ESG ประสบความสำเร็จ ควรพิจารณาในสี่มิติ กล่าวคือ (ก) ความพร้อม (Readiness) ขององค์กรที่ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อม ทิศทาง แนวโน้มสากลและบริบทภายในประเทศ (ข) ความชัดเจนของภาครัฐในเรื่องการสนับสนุนกฎหมาย ระเบียบที่ตอบสนองต่อ Sustainable Development (ค) เทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology & Innovation) ที่สามารถช่วยลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับองค์กรธุรกิจนั้นได้ และ (ง) การมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วน (Collaboration & Engagement) ทั้งคนในชุมชน ภาคประชาสังคม รวมถึงภาครัฐ การสื่อสารที่ดี ความชัดเจนใน Message เป็นปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จ

10. กล่าวโดยสรุป หากนำแนวคิดของ KU-VIPS มาวางกรอบเข้ากับเนื้อหาของสัปดาห์ที่สี่นี้… เรามองเห็นถึงวิสัยทัศน์ยั่งยืนของผู้นำภาคเอกชนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ Product เป็น Value Creation ขณะเดียวกัน Innovations เป็นสิ่งที่ทำให้ Product เหล่านั้นมีทั้งมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่า (Value) ให้กับองค์กรไปด้วยกัน ขณะที่ Professional ผู้บริหารที่มีความเป็นมืออาชีพต้องคำนึงถึงมิติความยั่งยืน (Sustainability) ที่มองครบทุกด้านทั้งสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาลที่ดี

—————————-

Dr. Sutthi Suntharanurak และทีมวิชาการ KU-VIPS #1