ด้วยความตั้งใจในการพัฒนาศิลปะการเต้นในเมืองไทย ของ “ครูต้อย” หรือ คุณวัลลภา ปัจฉิมสวัสดิ์  ผู้อำนวยการสถาบันบางกอกแดนซ์  สถาบันสอนศิลปะการเต้นแห่งแรกในประเทศไทย  มีหลักแนวคิดตรงกันกับสถาบัน Commonwealth Society of Teachers of Dancing (CSTD) จากประเทศออสเตรเลีย  จึงได้นำหลักสูตรดังกล่าวเข้ามายกระดับมาตรฐานการเต้นในประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 25 และได้การจัดการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix เป็นปีที่ 10 เพื่อเฟ้นหาเยาวชนไปแข่งขันในระดับนานาชาติ  ด้วยความมุ่งหวังให้ศิลปะการเต้นช่วยพัฒนาร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม และสร้างเสริมประสบการณ์นอกห้องเรียน

ย้อนไปกับการนำหลักสูตร CSTD. เข้ามาในประเทศไทย?

“ถ้าพูดถึงหลักสูตร CSTD ในประเทศไทย ทางสถาบันบางกอกแดนซ์ ได้นำหลักสูตรนี้ เข้ามาสอนในประเทศไทย ต่อเนื่องเป็นปีที่ 25 แล้ว ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีความหลากหลายเรื่องศิลปะการเต้น มีการวัดผลในแต่ละระดับถึง 2 ครั้งต่อปี ซึ่งต่างจากการเรียนการสอนในสมัยก่อนเราไม่มีการวัดผล ทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่านักเรียนแต่ละคนเต้นได้ดีหรือเต้นได้ตามมาตรฐานหรือเปล่า และอีกหนึ่งเหตุผลที่เรานำหลักสูตร CSTD เข้ามา เนื่องจากตอนนั้นสถาบันบางกอกแดนซ์ มีเด็กนักเรียนอยู่ 1 คนที่ไม่มีแขน แต่เป็นเด็กที่มีความตั้งใจ มีวินัย เขาเรียนมาแล้วถึง 5 ปี แต่ไม่เคยได้สอบวัดผลเลย เพราะหลักสูตรอื่น ๆ ยังไม่เปิดกว้างให้กับน้อง ๆ ที่ไม่สมบูรณ์  จนครูได้มาเจอกับ สถาบัน CSTD  ก็ได้ถามว่าเด็กคนนี้จะสอบได้ไหม เขาก็ถามครูกลับทันทีด้วยคำถามเดียวเลยว่า อีกแขนหนึ่งเต้นได้ไหม ครูเลยตัดสินใจนำหลักสูตรของ CSTD  เข้ามาเลย แล้วนักเรียนคนนั้นก็ได้สอบวัดผล ซึ่งผลการเรียนออกมาดีมากด้วย ได้ถึงระดับเกียรตินิยมเลย ปัจจุบันทางสถาบัน เรามีนักเรียนทั้งที่เป็นเด็กสมาธิสั้น (Hyperactive) หรืออาจจะเรียนรู้ช้า ซึ่งเราให้เรียนรวมกับนักเรียนปกติเลย เพียงแต่ว่าแจ้งให้คุณครูทราบว่าเราต้องเอาใจใส่เขาพิเศษหน่อย เพราะฉะนั้นเราจะให้เขาเรียนรู้เท่าที่ศักยภาพของเขาจะทำได้ ซึ่งเพื่อน ๆ ร่วมคลาสทุกคนก็เข้าใจ”

ความหลากหลายของหลักสูตร CSTD?

“หลักสูตร CSTD มีหลากหลายมากค่ะ ทั้ง Classical Ballet (บัลเล่ต์ คลาสสิก), Modern Jazz ( โมเดิร์น แจ๊ส) ,การเต้นแท็ป (Tap dance) ฮิปฮอป ( Hip -HOP) , นาฏศิลป์ร่วมสมัย (Contemporary Dance) ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่านักเรียนต้องการอะไร แต่เราจะเน้นพื้นฐานเป็นสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเรียนเต้นเป็นเพลง ๆ ก็เต้นได้เพียงเดียว แต่ถ้าได้เรียนพื้นฐานการใช้ร่างกาย การใช้กล้ามเนื้อ และเรียนรู้การใช้จังหวะต่าง ๆ  ต่อให้คัฟเวอร์กี่เพลงก็สามารถเต้นได้หมด แน่นอนว่าศิลปะการเต้นมีเทรนด์ และไม่หยุดนิ่ง ผู้เรียนแต่ละคนจะมีศิลปินที่ตัวเองชื่นชมแตกต่างกันไป แนวเพลงที่แตกต่างกันไป แต่หลักสูตรที่ได้รับความนิยมที่สุดของสถาบันตอนนี้ ยังคงเป็นบัลเล่ต์ ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใช่ว่า บัลเลต์จะต้องดีที่สุด แต่บัลเลต์ให้พื้นฐานละเอียดที่สุด แล้วการเรียนแค่เทคนิคอย่างเดียวไม่พอ นักเรียนต้องได้ประสบการณ์นอกห้องเรียนด้วย ตรงนี้เป็นสิ่งที่หลักสูตร C.S.T.D. ส่งเสริมในแง่ของกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำเวิร์คชอป หรือ การร่วมงานประกวดเวทีใหญ่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองเสมอ”

การเรียนการสอนศิลปะการเต้นยุคนี้ปรับเปลี่ยนไปยังไงบ้าง?

“ต้องบอกว่าง่ายขึ้นในแง่ของการยอมรับ ทั้งการยอมรับของตัวเด็ก และการยอมรับของพ่อแม่ ผู้ปกครอง สมัยก่อนเป็นเรื่องยากกว่าจะหานักเรียนเข้ามาในห้องเรียนได้ เพราะสมัยก่อนผู้ใหญ่บางคนอาจจะมองว่า ศิลปะด้านนี้ไม่มีประโยชน์ แต่ยุคสมัยนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมดแล้ว เพราะทุกคนเข้าใจ และรู้แล้วว่าประโยชน์ของศิลปะการเต้นมีอยู่มหาศาล และสามารถสร้างคน สร้างสมองด้วย เด็กคนหนึ่งจะฉลาด หรือไม่ฉลาด จะเรียนรู้ได้เร็วหรือไม่ อยู่ที่ศิลปะการเต้นเลย เพราะต้องเริ่มตั้งแต่การเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่เล็ก แต่ต้องยอมรับว่าศิลปะการเต้นในประเทศไทย ตอนนี้ยังแพ้วิชาการอยู่ คงใช้เวลาอีกนิดหนึ่งที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดที่ว่าศิลปะการเต้นสามารถเป็นอาชีพได้เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ให้เวลาลูกไปเรียนกวดวิชามากมาย เพราะกลัวว่าจะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยไม่ได้ ศิลปะการเต้นก็เป็นอีกศาสตร์ ปัจจุบันมีคณะด้านศิลปกรรมศาสตร์  คณะวิจิตรศิลป์ ด้านสาขานาฏศิลป์  ที่เปิดสอน ซึ่งผู้เรียนก็จะมีโอกาสพัฒนาตัวเอง และออกมาสู่อุสาหกรรมทางด้านศิลปะการเต้น ยกอาชีพศิลปะการเต้นของไทยให้มีระดับไปเรื่อย ๆ

ศิลปะการเต้นสามารถต่อยอดเป็นอาชีพได้อย่างไรบ้าง?

“อาชีพสายตรงด้านศิลปะการเต้นมี 4-5 อาชีพเลยนะคะ ไม่ว่าจะเป็นนักเต้น ซึ่งประเทศไทยและทั่วโลกก็ยังต้องการนักเต้นที่มีคุณภาพอยู่  หรือ วิชาชีพของครูที่สอนศิลปะการเต้น ต้องบอกว่า บุคลากรที่มีคุณภาพก็ไม่ใช่จะหาได้ง่าย ๆ ซึ่งเป็นอาชีพที่ไม่มีใครมาบอกว่าเราจะต้องเกษียรเมื่อไหร่ อย่างครูต้อยก็ยังสอนอยู่ถึงตอนนี้ แล้วคุณครูของครูหลาย ๆ ท่านก็ยังสอนอยู่ เรียกว่าเป็นอาชีพที่อยู่ยงคงกระพันมาก ๆ  นอกจากนี้ยังมีอาชีพ นาฏบำบัด หรือการรักษาโรคด้วยระบำ(Dance Therapy) แต่ในประเทศไทยยังมีน้อยอยู่ และอีกหนึ่งอาชีพที่ตลาดยังมีความต้องการมากอยู่ คือ โคโรกราฟเฟอร์ หรือ นักคิด นักออกแบบท่าเต้น ใครที่โด่งดังก็รับงานกันไม่ไหว เรียกว่าเป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างดี นอกจากนี้ ไม่ว่าเราจะไปเป็นดารา นักร้อง คนทำงานเบื้องหลัง หรืออาชีพอื่น ๆ ศิลปะการเต้นก็จะช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความโดดเด่นขึ้น”

ล่าสุดกับการแข่งขัน CSTD Thailand Dance Grand Prix ครั้งที่ 10 ที่ผ่านมา ปีนี้มีความพิเศษอย่างไรบ้าง?

“เราจัดต่อเนื่องมาจนถึงครั้งที่ 10 ผ่านพ้นมรสุมโควิด-19 มาถึง 3 ปี ที่ แต่การแข่งขันก็โตขึ้นทุก ๆปี จาก 400-500 คน เพิ่มมาตอนนี้สูงถึง 1,000 กว่าระบำ แข่งขันกันถึง 6 วันเต็ม ซึ่งในปีนี้นอกจากรางวัลถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกษิฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วยังมีรางวัลพิเศษเพิ่มขึ้นมา คือรางวัล Educated Choices ( เอ็ดดูเคท ชอยส์) ให้กรรมการเพียงคนเดียวเลย เลือกเยาวชนที่ถูกใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กที่ชนะเสมอ แต่เป็นเด็กที่มีความโดดเด่น มีของดีในตัว และมีความพร้อมมากที่สุด และปีนี้ยังมีเงินรางวัลมูลค่าสูงที่สุดอีกด้วย ซึ่งแชมป์ประเทศไทยจะได้เป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับนานาชาติต่อไปอีกด้วย กับเวที CSTD Asia Pacific Dance competition ซึ่งทั้ง 16 ประเทศสมาชิกจะได้มาเจอกัน

นอกจากนี้ในปีนี้ CSTD International ยังได้ฉลอง 90 ปี?

ต้องบอกว่าเป็น 90 ปีที่อยู่ยงคงกระพันธ์ โดยสมาชิกทั้ง 16 ประเทศ ก็จะร่วมฉลองกัน ซึ่งประเทศไทยเองจะมีการจัดกิจกรรม CSTD DAY 2023 ช่วงวันที่ 24-25 ต.ค. นี้ ที่กูรูทั้งประเทศจะมาร่วมแชร์ประสบการณ์และความรู้ของตัวเองที่สั่งสมมาให้กับเด็กและเยาวชนไทย เพื่อส่งเสริมให้วงการศิลปะการเต้นในประเทศไทยตื่นตัวขึ้น และจุดประกายให้เยาวชนมีแรงบันดาลใจมากขึ้น ซึ่งเราเปิดกว้างให้กับทุกคนได้เข้ามาร่วมกิจกรรม สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง เฟซบุ๊ก เพจ : CSTD Thailand เกี่ยวกับเงื่อนไขการรับสมัครได้เร็ว ๆ นี้”