คำถามจาก น้อง จ. : คุณอาหมอคะ สมมุติว่าหนูชื่อ จ. หนูเรียนอยู่ปี 2 ของมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งซึ่งมีอายุร้อยกว่าปีแล้ว ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ การบริการประชาชน และงานจิตอาสาเป็นหัวใจของพวกเราทุกคน รุ่นพี่ ๆ ของหนูก็ถูกฝึกให้เป็นผู้นำ และมีจิตวิญญาณช่วยเหลือสังคมจากชมรมนี้ ตอนนี้ใกล้ปิดเทอมแล้ว หนูถูกเพื่อน ๆ เลือกให้เป็นประธานชมรมจิตอาสาในปีนี้ เพื่อน ๆ บอกว่าหนูเป็นคนสวย น่าจะชักชวนคนไปค่ายกันได้มาก และหนูก็เป็นไฮโซ น่าจะหาทุนมาช่วยชมรมได้ หรือถ้าไม่พอก็คงขอคุณพ่อคุณแม่ มาโปะได้ไม่ยาก หนูกลุ้มใจมาก แต่ก็อยากลองทำ หนูอยากทำแบบมืออาชีพ ไม่อยากขอตังค์แม่ คุณอาหมอมีคำแนะนำไหมคะ

คุณหมอมาร์ค : สวัสดีค่ะ น้อง จ. นอกจากเป็นคนสวย เป็นไฮโซแล้ว ยังเป็นคนจิตใจดี มีความคิดบวก และมีภาวะผู้นำสูง เหมาะที่จะเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนในศตวรรษที่ 21 การทำงานจิตอาสาต้องเรียนรู้ที่จะเสียสละ แสวงหาความร่วมมือ และมีการวางแผนอย่างมืออาชีพ ปิดเทอมก็ใกล้เข้ามาแล้ว น้อง จ. ต้องรีบเตรียมตัวนะคะ

1. เริ่มจากสำรวจความเห็นของคนในชมรมว่าเค้าสนใจทำค่ายจิต อาสาเรื่องอะไร อาจจะใช้ SDG 17 ข้อเป็นกรอบก่อนก็ได้ว่าเพื่อน ๆ สนใจทำข้อไหน การสร้างการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น จะทำให้ทุกคนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของโครงการ น้อง จ. ก็จะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป

2. เมื่อได้สิ่งที่อยากทำแล้ว คราวนี้มาสำรวจความสามารถของสมาชิก ว่าตรงกับสิ่งที่จะทำหรือไม่ เช่นถ้าจะไปสร้างโรงเรียนให้เด็กยากจน เรามีสมาชิกเป็นสถาปนิก วิศวกรไหม ถ้าจะไปปลูกป่า เรามีนักนิเวศวิทยา นักสิ่งแวดล้อม ภูมิสถาปนิกมากน้อยแค่ไหน ถ้าเราจะไปสอนหนังสือเด็ก ๆ เรามีเพื่อน ๆ ที่มาจากสายครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศิลปะ ที่จะไปสอนไหม หรือถ้าจะไปทำค่ายสุขภาพ เรามีสมาชิกสายหมอ และพยาบาลหรือเปล่า ถ้าเรามีความสามารถใน สิ่งที่เราสนใจ ก็ไปต่อได้เลย ถ้าไม่มี ก็มาทบทวนเลือกสิ่งที่จะทำกันใหม่อีกครั้ง

3. พอเรื่องที่จะทำลงตัวแล้ว ก็มาเลือกว่าจะทำที่ไหนกับใคร ถ้าจะประหยัดเวลาก็ลองมองหามูลนิธิ หรือองค์กรต่าง ๆ ที่ทำในพื้นที่ที่เราจะไป อาจจะปรึกษากระทรวง พม. หรือ พมจ. ในจังหวัดนั้น ๆ หรือถ้าเป็นเรื่องโรงเรียน ก็ควรติดต่อขอข้อมูลจากต้นสังกัดในกระทรวงศึกษาธิการ เป็นต้น การทำงานกับมูลนิธิ หรือหน่วยงานที่ทำอยู่แล้วในพื้นที่ จะช่วยเราในการเตรียมงาน และคอยติดตามความก้าวหน้าในอนาคตได้ดี

4. ขั้นตอนการสำรวจ เราควรจะต้องมีทีมเล็ก ๆ ลงไปสำรวจพื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้านที่เราจะไปช่วยว่าเค้าต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร อย่าคิดแทนเขา ขั้นตอนนี้ต้องใช้ทักษะการฟัง และการถามที่ดี มูลนิธิหรือองค์กรท้องถิ่นที่เราจะทำงานด้วย จะช่วยเราได้มาก ทีมที่ไปควรเตรียมกล้องถ่ายรูป เพื่อทำคลิป ทำเรื่องราว เพื่อเตรียมหาทุนด้วย

5. เมื่อกลับมาต้องมาร่วมวางแผนกับสมาชิกในชมรม ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง แบ่งทีมทำงานเป็นกี่ทีม บางส่วนเตรียมงานที่มหาวิทยาลัยได้เลย ที่เหลือไปทำในพื้นที่โดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม ที่สำคัญ ต้องคำนวณค่าใช้จ่าย และเงินที่ต้องเตรียม และที่สำคัญต้องมีทีมระดมทุน

6. ขั้นตอนระดมทุนนี่สำคัญมาก การสื่อสารเรื่องราวดี ๆ หาผู้สนับสนุน อาจจะบอกบุญกันในมหาวิทยาลัย บริษัทต่าง ๆ เครือข่ายเพื่อน ๆ และญาติพี่น้อง ถ้าทำในนามมหาวิทยาลัยได้ และหน่วยงานของมหาวิทยาลัยสามารถออกใบเสร็จให้ได้ จะหาทุนได้ง่ายขึ้น เพราะผู้บริจาคสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ ที่สำคัญการสื่อสารหาทุน ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง ความน่าเชื่อถือ และรูปภาพต่าง ๆ ที่จะสื่อสารต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง ต้องไม่ละเมิดสิทธิ หรือก้าวล่วงความเป็นส่วนตัว หรือทำให้ผู้รับอับอาย หรือดูด้อยค่า

7. ขั้นตอนสุดท้าย จงสนุกกับกิจกรรม ทั้งสมาชิกในชมรมของน้อง จ. และทั้งชุมชนที่จะไป จงมีความสุขกับเวลาดี ๆ ที่มีร่วมกัน น้ำตาแห่งความปลื้มปิติ และความทรงจำดี ๆ นี้ จะติดตัวเราไปตลอดชีวิต และอย่าลืมกลับไปติดตามความก้าวหน้าของสิ่งที่ทำไว้อย่างสม่ำเสมอ แค่นี้ น้อง จ. ก็สามารถพิสูจน์ให้เพื่อน ๆ เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องสวย หรือเป็นไฮโซ ใคร ๆ ก็ทำได้ ถ้าเข้าใจหลักการบริหารงานจิตอาสา แล้วน้อง จ. ก็จะไม่ต้องกลุ้มใจ และไม่ต้องโดดเดี่ยวเดียวดายอีกต่อไป ขอให้ประสบความสำเร็จ และสนุกกับสิ่งที่ทำนะคะ.