น.ส.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการ สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (จีบีดีไอ) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง ทางสถาบันฯ จึงได้พัฒนาระบบบริหารจัดการเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ในชื่อ โค-ลิงค์( CO-link) ขึ้นมา เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสายด่วนเฉพาะกิจ 1668, 1669 และ1330 ฯลฯ รวมถึงสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ตลอดจนการเชื่อมโยงข้อมูลการแอดมิตจากโรงพยาบาลทุกสังกัด ข้อมูลผลแล็บ และข้อมูลจากระบบโฮม ไอโซเลชั่น(  Home Isolation)  หรือ การดูแลตัวเองจากที่บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การจัดสรรเตียงให้กับผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 “ตั้งแต่ระบบ CO-link เริ่มใช้งานเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน สามารถติดตามผู้ป่วยจนเข้าสู่ระบบการรักษาไปแล้วเกือบแสนราย มีบุคลากรทางการแพทย์เข้าใช้งานแล้วเกือบ 500 บัญชี โดยในอนาคตจะมีการโอนย้ายเซิร์ฟเวอร์จาก จีบีดีไอสู่เซิร์ฟเวอร์ของ บริการระบบคลาวด์กลางภาครัฐหรือ จีดีซีซี  ในศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้นจากพื้นที่ระบาดอื่น ๆ ทั่วประเทศ”

ธีรณี อจลากุล

น.ส.ธีรณี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีการขยายระบบ CO-link ให้เชื่อมโยงข้อมูลการจองฉีดวัคซีนและ ได้รับการฉีดวัคซีนจากระบบหมอพร้อม ไทยร่วมใจ ปทุมธานีวัคซีน และ นนท์พร้อม เพื่อลดความซ้ำซ้อน ในการจองวัคซีน ส่งผลให้กระทรวงสาธารณสุข สามารถคาดการณ์ความต้องการ เพื่อจัดหาวัคซีนได้อย่างแม่นยำมากขึ้น และระบบยังมีการพัฒนาแดชบอร์ดด้านวัคซีนให้กับกรมควบคุมโรค เพื่อสามารถดูข้อมูลผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังฉีดวัคซีนแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อประเมินสถานการณ์ และแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดอีกด้วย.